
โรคคาวาซากิ (KAWASAKI DISEASE) เป็นโรคในเด็กเล็ก จะมีไข้สูงหลายวัน ทานยาลดไข้ไม่ค่อยลด ตาแดงเรื่อโดยไม่ค่อยมีขี้ตา ลิ้นแดงคล้ายผลสตรอเบอรี ริมฝีปากแดงแห้งแตก มือเท้าบวม มีผื่นตามตัว อย่ารอช้ารีบพบแพทย์ทันที
เพราะถึงแม้ว่าอาการของโรคจะสงบไปได้เอง แต่มีภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่หัวใจ และหลอดเลือดที่หัวใจมักมีการอักเสบ แต่มักไม่รุนแรง ที่หลอดเลือดพบภาวะแทรกซ้อนได้บ่อย จะมีอันตรายที่หลอดเลือดหัวใจซึ่งอาจโป่งพอง อุดตัน ทำให้หัวใจขาดเลือดไปเลี้ยงได้ อันตรายถึงชีวิตได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนี้เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบบ่อยในช่วงอายุ 1-2 ปี ข้อมูลของเราคล้ายกับในต่างประเทศที่กว่าร้อยละ 95 จะมีอายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง และพบว่าในเด็กที่อายุน้อยๆ และเพศชาย จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงกว่าเด็กโตๆ หรือผู้หญิง
ภาวะแทรกซ้อนอาจรุนแรงตั้งแต่วันแรกๆ ของโรค มีช็อก เสียชีวิตได้ แต่พบน้อย ภาวะแทรกซ้อนส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ต้องตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องตรวจ Echocardiogram ว่ามีหลอดเลือดหัวใจผิดปกติหรือไม่ เพราะถ้าผิดปกติ จะมีโอกาสเกิดการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ เสียชีวิตเฉียบพลันได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคคาวาซากิ พบประมาณ 70-100 ราย/ปี ถ้านับทั่วประเทศก็จะประมาณ 300 ราย/ปี เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แต่คาดว่าน่าจะเกี่ยวกับการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสบางชนิด เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงผิดปกติ
ผู้ป่วยมักมีไข้สูงหลายวัน ตาแดง ปากแดง เป็นลักษณะเด่นที่แยกโรคนี้จากไข้หวัดธรรมดาได้ สิ่งที่สำคัญสำหรับโรคนี้คือ อาจพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ หลอดเลือดหัวใจโป่งพอง เป็นภาวะแทรกซ้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายตั้งแต่อายุน้อยได้ ถ้าพบแพทย์เร็ว ให้การรักษาด้วยยาในระยะแรกๆ ของโรคจะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ และหลอดเลือดเหล่านี้ได้ โดยถ้าไม่ใช้ยาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนเกินร้อยละ 30 แต่เมื่อให้ยาแล้วจะเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งยังทำให้อาการไข้หายอย่างรวดเร็วด้วย ยานี้เป็นภูมิคุ้มกันชนิดเข้มข้น มีต้นทุนที่สูงเนื่องจากต้องใช้กระบวนการผลิตที่ยุ่งยาก ซับซ้อน จึงจะปลอดภัยในการนำมาใช้ แต่สิทธิในหลักประกันสุขภาพครอบคลุมการใช้ยานี้ได้
เด็กที่เป็นโรคนี้ต้องได้รับการติดตามโดยกุมารแพทย์โรคหัวใจด้วยการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echocardiogram) เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นใน 2-3 เดือน ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพียงแต่ปรับระยะเวลาการให้วัคซีนบางชนิดให้เหมาะสม ในกรณีที่มีหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาแอสไพรินไปจนกว่าหลอดเลือดหัวใจจะกลับมาเป็นปกติ ในบางรายอาจต้องไปสวนหัวใจ หรือผ่าตัดเพื่อขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต
โรคคาวาซากิ(Kawasaki disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวหนัง หลอดเลือดและต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย
สาเหตุ
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าตามหลังการติดเชื้อ และเชื้อโรคกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ
อาการที่พบ
ไข้สูงเฉียบพลัน ปากแดง ตาแดง มือเท้าบวม ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าลอกหรือลอกที่บริเวณก้น ผื่นตามร่างกาย ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
เกณฑ์การวินิจฉัย โรคคาวาซากิ คือ มีไข้สูงเฉียบพลันอย่างน้อย 5 วัน และให้สังเกตว่ามีอาการ 4 ใน 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ตาแดง 2 ข้างไม่มีขี้ตา
- ริมฝีปากแดง แห้ง แตก ลิ้นแดงผิวเหมือนสตรอเบอร์รี่
- มือเท้าบวม ผิวหนังลอกโดยเริ่มจากปลายนิ้ว
- ผื่นแดงพบได้หลายรูปแบบ ยกเว้น ตุ่มน้ำใส
- ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต ไม่เจ็บ
ภาวะแทรกซ้อนที่พบ
หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ โดยการตรวจพบภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวต้องอาศัยการตรวจโดยใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography)
การรักษา
การดูแลรักษาต้องอาศัยการดูแลร่วมกันระหว่างกุมารแพทย์ทั่วไปและกุมารแพทย์โรคหัวใจ โดยผู้ป่วยที่ให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคาวาซากิควรได้รับ intravenous gammaglobulin (IVIG) ในขนาดสูงเพื่อลดโอกาสการเกิดหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง ร่วมกับการให้ aspirin
สรุป
โรคคาวาซากิเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด อาการสำคัญคือไข้สูง ปากแดง ตาแดง มือเท้าบวมลอก ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต และผื่นตามร่างกาย สามารถหายได้เอง แต่ถ้าวินิจฉัยช้าหรือให้การรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ โดยภาวะแทรกซ้อนสำคัญ คือ การอักเสบของหลอดเลือดแดงเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพอง หรืออุดตัน ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดตามมา ดังนั้นเมื่อบุตรหลานของท่านมีอาการไข้สูงเป็นเวลาหลายวันร่วมกับมีอาการดังกล่าว ควรรีบพามาพบกุมารแพทย์โรคหัวใจเพื่อให้ได้รับตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
ข้อมูลจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อิงคนิจ ชลไกรสุวัฒน์ World Medical Hospital (WMC)