แชร์ประสบการณ์ วิธีรับมือไข้สูง ดีที่คุณแม่ไหวตัวทัน

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/แชร์ประสบการณ์ วิธีรับมือไข้สูง ดีที่คุณแม่ไหวตัวทัน
แชร์ประสบการณ์ วิธีรับมือไข้สูง ดีที่คุณแม่ไหวตัวทัน

คิดว่าคุณแม่หลายๆ คนอาจจะทราบกันมาบ้างแล้ว ว่าหาก ลูกไข้สูง อาจทำให้เด็กชักได้ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีจึงจำเป็นจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ในการดูแลก็ง่ายๆ แค่กินยาลดไข้และเช็ดตัว แต่มันก็ยังมีเรื่องทำให้คุณแม่อย่างเราเอามาเล่าสู่กันฟัง

ตอนนั้นลูกเราอายุได้ 1 ขวบ 3 เดือน ช่วงเย็นเวลาประมาณ 6 โมง ลูกเรามีไข้ 38 องศา ตอนนั้นเราไม่มียาแก้ไข้ เลยตัดสินใจพาลูกไปคลินิกแห่งหนึ่ง แต่วันนั้นรถติดมาก ไปถึงคลินิกหกโมงครึ่ง เห็นป้ายบอกว่าคลินิกปิดหนึ่งทุ่มเราดีใจจนเนื้อเต้น รีบเข้าไปข้างใน เนื่องจากขวบปีแรกลูกเราไม่เคยป่วยเลย และเราก็ไม่เคยทำบัตรที่คลินิกนี้หรือคลินิกไหนมาก่อน พอบอกที่เค้าน์เตอร์ว่ามาทำบัตรใหม่ เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่าปิดรับคนไข้ใหม่หกโมงครึ่ง ตอนนี้ปิดรับแล้ว คนไข้เก่ายื่นบัตรได้ถึง 6 โมง 45

“แต่น้องไข้สูงนะคะ” เราแย้ง

“ไปโรงพยาบาลเลยค่ะ” ที่เค้าน์เตอร์แนะนำ เรากำลังจะเอาลูกออกมา แต่นึกขึ้นได้ว่าถ้าลูกได้เช็ดตัวก่อนก็คงจะดีเลยขอคนที่เค้าน์เตอร์เข้าไปเช็ดตัวลูก ในใจเราคิดว่าเขาอาจจะมีผ้า กะละมัง และน้ำ เราเช็ดเองก็ได้ขอแค่อุปกรณ์ แต่พนักงานที่เค้าน์เตอร์บอกเราว่า “คุณแม่ก็เอาน้ำขวดแล้วก็ผ้าคุณแม่เช็ดเลยค่ะ”

โอเค ซึ้งค่ะ เราพาลูกออกมาขึ้นรถ ใช้น้ำขวดกับผ้าอ้อมที่พกมาด้วยเช็ดตัวให้ลูกระหว่างทางไปโรงพยาบาล พอไปถึงคุณหมอตรวจแล้วให้ยามากิน คุณหมอบอกว่าไข้สูง นอน รพ. ได้นะ แต่เราคิดว่านอน รพ. ก็ต้องเจาะแขนให้น้ำเกลือ เราสงสารลูกเลยตัดสินใจพากลับบ้าน

ลูกเรากินยาไปตอนประมาณทุ่มครึ่ง พอประมาณเที่ยงคืน เราเห็นลูกนอนตัวสั่นสะท้าน เราตกใจมาก ไม่รู้ว่ามันคืออะไร จับตัวลูกก็แค่อุ่นๆ  จะว่าชักก็ไม่ใช่ แต่คือความกลัวมันพุ่งปรี้ดติดลมบน กลัวอะไรหรือคะ ก็กลัวชักนั่นแหละค่ะ ตอนนั้นเราคิดอย่างเดียวว่าเราจะไม่ยอมให้ลูกชักเด็ดขาด เนื่องจากสามีเราเป็นโรคลมชัก เราเคยเห็นตอนเขาชักมาแล้ว และเราคงทนไม่ได้ถ้ามันเกิดขึ้นกับลูกเรา

เรามาค่อยๆ คิดว่าทำไงลูกเราถึงจะไม่ชัก ก็มีคำตอบแว่วมาในหัวว่า เช็ดตัว! ใช่แล้วต้องเช็ดตัว!!!

เราเตรียมผ้าและกะละมังใส่น้ำเรียบร้อย พอกลับมาอีกที จับตัวลูกดู ลูกเราตัวร้อนจี๋เลยค่ะ วัดไข้รอบนี้ได้ 40 องศา เรารีบให้ลูกกินยาแก้ไข้และเช็ดตัว แล้วพาไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอให้หมอถามเป็นคำรบสองว่าจะแอดมิดไหม ขอแอดมิดเองไปเลย เพราะไข้สูงขนาดนี้ แม่ไม่เสี่ยงแล้วค่ะ

หลังจากที่คุณหมออนุมัติให้อยู่ รพ. ได้ ทีนี้ก็มาถึงขั้นตอนที่ทำให้แม่ปวดใจ นั่นคือคุณหมอสั่งเจาะเลือดลูกเพื่อเอาไปตรวจค่ะ

มาถึงห้องเจาะเลือด คุณพยาบาลก็จับลูกเรานอนหงาย เอาผ้าห่อแบบให้แขนข้างหนึ่งโผล่ออกมานอกผ้า แล้วเราก็ยืนจับขาลูกเอาไว้ จริงๆ เรากลัวยิ่งกว่าลูกเสียอีก แต่มาถึงขั้นนี้แล้ว สู้ได้อย่างเดียว ไม่มีคำว่าถอยค่ะ เราบอกให้ลูกมองตาเรา บอกเขาว่าแม่รู้ว่ามันเจ็บมาก แต่เราจะผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน

แล้วลูกเราเป็นยังไงเหรอคะ…หลับหูหลับตาร้องอย่างกับโดนเชือดเลยค่ะ!

หลังจากที่เจาะเลือดออกไป 2 หลอดเต็มๆ คุณพยายาบาลก็คาเข็มเอาไว้ที่หลังมือของลูก ตอนแรกเราก็คิดนะว่าเด็กเล็กคาเย็มอย่างนั้นมันไม่หลุดเหรอ แต่พยาบาลเขาติดสติกเกอร์แบบแน่นหนามา ติดระหว่างเข็มกับเนื้อแล้ว ยังมีแผ่นคล้ายๆ โฟมแข็งรองใต้ข้อมือไม่ให้ข้อมือขยับ พันด้วยแทบกาวชนิดที่มีแตผู้มือพลังพิเศษเท่านั้นจะฉีกออกด้วยมือเปล่าได้ แถมใส่ผ้าตาข่ายๆ คลุมทับมืออีกรอบ เห็นแล้วสบายใจได้เลยว่าซนยังไงก็ไม่หลุดแน่นอน

ตอนนั้นเราเพิ่งนึกได้ว่าลูกมีอาการสั่นแปลกๆ ก่อนมาโรงพยาบาลเลยถามพยาบาลค่ะ คุณพยาบาลบอกว่านั่นคืออาการที่บ่งบอกว่าไข้จะขึ้นสูง ถ้าลูกตัวสั่น ก็ต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับเช็ดตัวไว้เลย พอตัวหายสั่นปุ๊บ ไข้มันจะสูง ก็เช็ดตัวตอนไข้สูงได้เลยค่ะ

นับว่าเราโชคดีมากจริงๆ ที่ตัดสินใจเช็ดตัวลูกก่อนมาโรงพยาบาล ไม่งั้นก็ไม่รู้ว่าไข้จะขึ้นไปถึงไหนต่อไหนนะคะ หลังจากที่อยู่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลก็เดินวนสับกันให้ยาแก้ไข้ เดี๋ยวสีแดง เดี๋ยวสีส้ม ไข้ลงอยู่ 4 ชั่วโมงเป๊ะ แล้วก็ขึ้นอีก

เราไปโรงพยาบาลกกลางดึกและให้ลูกแอดมิดทันทีก็จริง แต่เราไม่ลืมที่จะเอาปรอทใส่กระเป๋าถือมาด้วย เพราะถ้าลูกเรามีไข้ เราต้องรู้

ลูกเรา พอกินยาแก้ไข้ ไข้ก็ลด พอหมดฤทธิ์ยา ไข้ก็มา มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ไข้ขึ้นมา 39 องศา เราตัดสินใจกดออดเรียกพยาบาล โดยบอกว่า “รู้สึกว่าน้องไข้ขึ้น ช่วยวัดไข้หน่อยค่ะ”

ผู้ช่วยพยาบาลก็เข้ามาค่ะ แล้วก็มายืนคุย บอกเราว่าทั้งชั้นนี่มีผู้ช่วยแค่ 2 คน ซึ่งผู้ช่วยจะต้องวัดไข้เด็กหลายห้อง อย่างห้องโน้น (บอกแค่ ‘ห้องโน้น’ ไม่รู้โน้นไหน) ก็เคยชักมา ผู้ช่วยวัดไข้ช้าไปสิบนาที ปรากฎว่าน้องชัก ผู้ช่วยโดนตั้งกรรมการสอบสวนใหญ่โตเลยทีเดียวว่าทำไมวัดไข้ช้า แล้วผู้ช่วยก็เข้าประเด็นค่ะว่า

“อย่างของคุณแม่ อีก 15 นาทีก็จะเข้ามาวัดให้อยู่แล้ว เพราะต้องวัดทุกชั่วโมง ถ้าครบชั่วโมงแล้วยังไม่มา คุณแม่กดเรียกได้เลย”

อันนี้ก็ไม่ทราบว่าคุณผู้อ่านอ่านแล้วตีความว่ายังไง แต่เราตีความว่าไม่ควรกดเรียกก่อนหนึ่งชั่วโมงเพราะผู้ช่วยกำลังดูแลเด็กคนอื่นอยู่ ครั้งนั้นคุณผู้ช่วยยืนคุยกับเราจนครบ 15 นาที แล้วเดินเข้าไปวัดไข้ ลูกเราไข้ขึ้นถึง 40.5 ผู้ช่วยก็เอาลูกเราไปเช็ดตัวค่ะ

พอรอบถัดมา ลูกเราตัวร้อน เราก็งัดปรอทขึ้นมาวัดไข้ โอ้โห! คราวนี้ 41.8 แบบว่าเหยียบๆ 42 อยู่แล้วนะคะน่ะ แต่พอมองเวลา มันก็เหลืออีกตั้ง 30 นาทีกว่าจะถึงรอบวัดไข้รอบถัดไป

ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี และเราก็เป็นผู้ดีค่ะ แต่เราก็ปฏิญาณไว้แเล้วว่าจะไม่ปล่อยให้ลูกชักใช่ป่ะคะ เราเลยพาลูกเข้าห้องน้ำ เอาผ้าขนหนูปูตรงโต๊ะข้างอ่างน้ำ เอาลูกวางบนผ้าจะได้ไม่เย็นก้น เตรียมทุกอย่างพร้อม ว่าแต่จะเอาผ้าที่ไหนเช็ด ทั้งผ้าอ้อมผ้าเช็ดหน้าไม่มีสักผืน พอดีนึกขึ้นได้ว่ามีเสื้อลูกตัวที่ใส่มาโรงพยาบาลเลยหยิบเสื้อตัวนั้นนั่นแหละค่ะ มาเช็ดตัวให้ลูก

เช็ดเสร็จสักพักก็วัดไข้อีกคราวนี้ลงมาที่ 40.3 แต่ก็ยังถือว่าสูงอยู่ นางแม่ก็จับลูกเข้าห้องน้ำเช็ดตัวอีก นึกว่าจะลงมาเหลือสัก 39 ใช่ไหมคะ แต่เปล่าค่ะ มัน 40 หน่อยๆ เหมือนเดิม พอดีน้ำเกลือใกล้หมด คุณพยาบาลเดินเข้ามาเปลี่ยนขวดน้ำเกลือและวัดไข้ เน้นว่าคราวนี้เป็นพยาบาลแล้วนะคะไม่ใช่ผู้ช่วย พอพยาบาลเห็นปรอทเท่านั้น รีบอุ้มลูกเราไปเช็ดตัวในห้องที่จัดไว้สำหรับเช็ดตัวและเจาะเลือดโดยเฉพาะ ก่อนไปไม่ลืมทิ้งท้ายด้วยนะคะว่า

“ถ้าน้องไข้สูงอย่างนี้อีก คุณแม่กดออดเรียกเลยนะคะ อย่ารอ”
อ้าวเหรอคะ แม่ก็นึกว่าความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี!

ช่วงที่ลูกเราอยู่โรงพยาบาล หมอก็ให้ยาฆ่าเชื้อทางสายน้ำเกลือด้วย ประมาณสามวันก็เจาะเลือดไปตรวจอีก หมอบอกว่าผลตรวจเลือด (ที่เจาะในคืนแรกที่มา) ออกมาแล้ว ลูกเราไม่ได้เป็น RSV ไม่ได้เป็นไข้เลือดออก ไม่ได้เป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ดูจากเม็ดเลือดขาวแล้ว ร่างกายของลูกตอบสนองยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ดี แสดงว่าติดเชื้อแบคทีเรีย จึงต้องให้ยาต่อไปค่ะ

หลังจากอยู่โรงพยาบาลมา 4 วัน คุณหมอก็ตัดสินใจว่าจะให้ยากดไข้ให้มันลงไปเลยแล้วกลับบ้าน เราก็งงๆ ว่ามันคือยาอะไร เท่าที่เห็นคือเป็นยากิน สีเหลืองอ่อน พอกินแล้วก็ไม่เป็นไข้ตลอด 14 ชั่วโมง หมอเลยบอกให้กลับบ้านได้ค่ะ

ทีนี้ตอนก่อนจะกลับบ้าน ก็มียาให้กลับไปกินที่บ้านด้วยนะคะ พวกยาแก้อักเสบนี่ไม่งง แต่ยาแก้ไข้มีสองตัว คือยาตัวสีแดงกับตัวสีส้ม คุยกับพยาบาลนานมากค่ะกว่าจะเก็ทว่ากินยังไง

เราเองก็เพิ่งรู้ว่าในโลกใบนี้มันมียาแก้ไข 2 ชนิด คือยาแก้ไข้ต่ำ (สีแดง) กับยาแก้ไข้สูง (สีส้ม) ยาแก้ไข้ต่ำกินที่ 37.8 องศา ทุก 4 ชั่วโมง ยาแก้ไข้สูงกินที่ 38.7 องศา ทุก 6 ชั่วโมง วิธีนับคือนับรอบใครรอบมันไม่เกี่ยวกัน เช่น กินยาแก้ไข้ต่ำตอน 10.00 น. แสดงว่ากินได้อีกทีตอน 14.00 น. และอีกทีก็ 18.00 น. ส่วนยาแก้ไข้สูงกินครั้งแรก 09.00 น. ครั้งที่สองก็ 15.00 น. ครั้งที่สามก็ 21.00 น. ดังนั้น ถ้าลูกกินยาแก้ไข้สูงตอน 09.00 น. แต่ไข้ยังไม่ลงก็กินยาแก้ไข้ต่ำตอน 10.00 น. ได้ จากนั้นกินยาแก้ไข้ต่ำอีกทีตอน 14.00 น. ต่อมาก็กินแก้ไข้สูง 15.00 น. ไปเรื่อยๆ ตามรอบของมันแบบนี้ แต่จะกินผิดรอบ ผิดเวลา มั่วรอบ ไม่ได้เด็ดขาด

จะเห็นได้ว่ามันมีช่วงที่ยังกินยาไม่ได้เพราะยังไม่ถึงรอบใช่ไหมคะ ในช่วงเวลานั้นหากมีไข้ก็จะต้องใช้วิธีเช็ดตัวแทนค่ะ โดยสามารถเช็ดได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ไม่จำกัดรอบจำกัดครั้งเหมือนการรับประทานยาค่ะ

อีกหนึ่งข้อควรระวังคือยาแก้ไข้สูงมันกัดกระเพาะ ควรให้ลูกดื่มนมนิดหน่อยก่อนกินยา หากกินยาตอนท้องว่างอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะได้ค่ะ

หลังจากรู้วิธีรับประทานยาเรียบร้อยแล้ว เราก็พาลูกกลับบ้าน รับประทานยาแก้อักเสบตามทีหมอสั่ง น่าแปลกที่พอกลับมาถึงบ้านแล้วลูกเราไม่มีไข้เลย

สำหรับเรา เราเชื่อว่าการที่เราตัดสินใจได้เร็วทั้งในเรื่องเช็ดตัวลูก่อนไปรพ. การตัดสินใจแอดมิด การพกปรอทไปรพ. ด้วย และการตัดสินใจเช็ดตัวให้ลูกไปก่อนโดยไม่รอให้ครบรอบการวัดไข้ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและรวดเร็ว เพราะหากเราไม่ตัดสินใจทำอย่างนั้น ลูกเราจะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่มีใครทราบได้

ที่มาจาก สาลิกา สาลิกา อดีตนักเขียนอิสระที่มาแชร์ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก