สูตรคำนวณน้ำนมสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/สูตรคำนวณน้ำนมสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ
สูตรคำนวณน้ำนมสำหรับเด็กแรกเกิดจนถึง 1 ขวบ

สูตรคำนวณน้ำนม หรือ ปริมาณนม ที่ลูกกินควรเป็นดังนี้ค่ะ ภายในอายุ 1 เดือนแรก ใช้นน.ตัว (กก.) คูณ 150 ซีซี หาร 30 เป็นปริมาณออนซ์ของนมที่ต้องใช้ใน 1 วัน (1 ออนซ์เท่ากับ 30 ซีซี) แบ่งให้ 6 มื้อ เช่น แรกเกิดหนัก 3 กก. หากเป็นเด็กนมผง ควรกิน 3 คูณ 150 เท่ากับ 450 ซีซี/วัน เท่ากับ 15 ออนซ์/วัน แบ่ง 6 มื้อๆละ 2.5 ออนซ์ แต่ถ้ากินนมแม่ ภายในเดือนแรก จะยังไม่ฝึกให้กินจากขวด ให้กินจากเต้าอย่างเดียว เพื่อไม่ให้มีปัญหาสับสนจุกนม ครบ 1 เดือน ลูกควรหนัก 3.6 กก. แต่คำนวณง่ายๆ ป้าหมอปัดให้เป็น 4 กก.คูณ 120 เท่ากับ 480 ซีซี หารด้วย 30 ได้เป็น 16 ออนซ์ ไม่ควรให้มากไปกว่านี้อีก เพราะป้าหมอคิดน้ำหนักแบบปัดขึ้นให้แล้ว แต่เอาเถอะ เห็นใจคนเลี้ยง หากเด็กบางคนร้องไห้เก่ง เลี้ยงยาก วางไม่ค่อยได้ ป้าหมอใจดี อนุญาตให้กินได้มากถึง 24 ออนซ์/วัน จะได้จำง่ายๆ ว่าเป็นชม.ละออนซ์

แต่ผู้เลี้ยง มักจะขอต่อรองอยากให้เพิ่มขึ้นไปอีก บอกว่า เด็กกินไม่พอ เพราะ ร้องไห้ และ ขยับปากตลอดเวลา ซึ่งเป็นสัญชาตญาณของเด็กแรกเกิดที่ต้องการให้คุณแม่เอาเข้าเต้าตลอดเวลา ต้องการให้แม่อยู่ใกล้ชิดเค้าตลอดเวลา ซึ่งถ้ากินจากเต้า จะไม่ค่อยมีปัญหา overfeeding แต่ถ้าเราให้กินนมผง เราก็ชงได้ไม่อั้น หรือ ถ้าใช้วิธีปั๊มนมแม่ใส่ขวด ก็จะทำให้สิ้นเปลืองนมสต๊อกเกินความจำเป็น เราจึงต้องมีการจำกัดปริมาณ ให้กินอย่างเหมาะสม คือ ก่อนกินพุงแฟบ หลังกินพุงป่อง อึ 2-3 ครั้ง/วัน ฉี่ 6-9 ครั้ง/วัน ถ้าก่อนกินพุงก็ป่องอยู่แล้ว หลังกินพุงก็ป่องมากยิ่งขึ้น อึฉี่มากมาย ก็เแปลว่าให้กินมากเกินไปแล้ว

ครบ 2 เดือน สมมติว่าหนัก 5 กก. (ใจดีอีกแล้ว จริงๆแล้ว ควรหนัก เพิ่มขึ้นอีกแค่ 600 กรัม จึงควรเป็น 4.2 กก.) เอานน. 5 กก.คูณ 120 ได้ 600 ก็คือ 20 ออนซ์ ป้าหมอใจดีปัดให้เป็น 24 ออนซ์/วัน เพราะเห็นใจลูกยังร้องไห้เก่ง เพราะกำลังปรับตัวกับโลกใบใหม่อยู่ ดังนั้นยังใช้สูตร ชม.ละออนซ์ ได้เหมือนเดิม

สูตรคำนวณน้ำนม ครบ 3 เดือน ช่วงนี้ นน.ไม่ขึ้นเยอะเหมือนเดิมแล้ว เพราะเด็กเริ่มปรับตัวกับโลกใบใหม่ได้แล้ว จะเริ่มกินน้อย สนใจเล่นมากขึ้น นน.เพิ่มแค่ 500 กรัม/เดือน จะกลายเป็น 5.5 กก. คูณ 120 เท่ากับ 660 ซีซี หารด้วย 30 ก็เท่ากับ 22 ออนซ์ ก็ยังใช้สูตร ชม.ละออนซ์ ได้เหมือนเดิม

สูตรคำนวณน้ำนม

ครบ 4 เดือน หนักอีก 5 ขีด นน.กลายเป็น 6 กก. ซึ่งถือว่า ขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่แล้ว เพราะปกติแล้ว เด็กจะน้ำหนัก 2 เท่า เมื่ออายุ 5 เดือน แต่นี่แค่ 4 เดือนเอง ได้มา 2 เท่าแล้ว เอา 6 กก.คูณ 120 เท่ากับ 720 หารด้วย 30 คือ 24 ออนซ์ ก็ยังใช้สูตรชม.ละออนซ์ ได้เหมือนเดิม

ครบ 5 – 6 เดือน เด็กส่วนใหญ่ จะกินน้อยลงอีก เพราะห่วงเล่น โดยเฉลี่ยจะกิน 24 ออนซ์ บวกลบ 4 ออนซ์ ช่วงนี้น้ำหนักจะขึ้นเดือนละ 4 ขีด

ช่วง 6 – 12 เดือน ใช้น้ำหนัก (กก.) คูณด้วย 110 ค่ะ เช่น เด็ก 6 เดือน หนัก 6.5 กก.คูณ 110 เท่ากับ 715 หารด้วย 30 เท่ากับ 24 ออนซ์/วันเหมือนเดิม แต่จะเพิ่ม
ข้าว 1 มื้อ มื้อละ 5-8 ชต. สำหรับเด็ก 6 เดือน
ข้าว 2 มื้อ สำหรับเด็ก 9 เดือน
ข้าว 3 มื้อ สำหรับเด็ก 12 เดือน

หลัง 1 ขวบ ข้าวเป็นอาหารหลัก อย่ากินนมเยอะเกินไป เพราะจะทำให้กินข้าวได้น้อยเกินไป นมลดบทบาทเป็นเพียงอาหารเสริม เพื่อให้ได้รับแคลเซียมปริมาณที่เหมาะสมตามวัย ซึ่งช่วงนี้ต้องการแคลเซียม วันละ 500 มก. เทียบเท่ากับนมปริมาณ 500 ซีซี ถ้าได้แคลเซียมจากอาหารเพียงพอแล้ว นมอะไรอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต้องกิน ยกเว้นแต่นมแม่ ยังเป็นสิ่งที่ร่างกายต้องการ สำหรับภูมิต้านทาน และ สารอาหารที่ช่วยพัฒนาสมองลูก ฮอร์โมนมนุษย์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ธรรมชาติกำหนดมาแล้วว่า ลูกคนกินนมแม่ได้จนฟันแท้มา

ป้าหมอ >>>>> ที่คุณแม่ปั๊มได้วันละ 30-35 ออนซ์ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว ช่วงเวลาที่คุณแม่ไม่ได้อยู่กับลูก ควรใช้นมสต๊อกไม่เกินชม.ละออนซ์ เพื่อให้ลูกเก็บท้องไว้รอเต้าค่ะ เช่น ถ้าคุณแม่ไม่อยู่ 10 ชม. ลูกควรกินนมสต๊อก 5-10 ออนซ์ ถ้าลูกกินนมสต๊อกมากกว่านี้ จะทำให้เวลาที่แม่กลับมาแล้ว ลูกไม่อยากดูดเต้า เพราะอิ่มนมสต๊อกแล้ว และชินกับขวดนมมากเกินไป แต่ถ้าลูกกินนมสต๊อกน้อยกว่านี้ ไม่เป็นไรค่ะ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี นมสต๊อกจะได้ไม่หมดเร็วเกินไป ยอมกิน 2-3 ออนซ์ถือว่าโอเคแล้ว แสดงว่าลูกเป็นเด็กฉลาด รู้ว่านมสต๊อกไม่อร่อย จะเก็บท้องไว้รอกินจากเต้า ยอมกินแค่กันคอแห้งเฉยๆ ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะได้รับนมไม่พอจนเป็นอันตราย เพราะสิ่งมีชีวิตไม่ปล่อยให้ตัวเองอดตายค่ะ ไม่ต้องหานมอื่นๆมาใช้แทนนมสต๊อกนะคะ ถึงแม้ว่าลูกจะกินนมสต๊อกไม่เยอะ แต่คุณแม่ก็ยังคงต้องคอยปั๊มนมออกบ่อยๆ เพื่อรักษาระดับการสร้างน้ำนมไว้ ให้เพียงพอสำหรับลูกดูดตอนกลางคืน

แต่กรณีที่คุณแม่ปั๊มนมห่าง 6 ชม. แบบนี้ไปเรื่อยๆ ทำให้นมค้างเต้า คัดในเต้านานเกินไป ในระยะยาว น้ำนมจะลดลงได้ค่ะ หากเป็นไปได้ และ คุณแม่ยังไหว ควรปั๊มให้บ่อยขึ้น ตัวป้าหมอเองเนื่องจากทำงานนอกบ้านตั้งแต่ลูกอายุ 1 เดือน จึงพยายามปั๊มนมทุก 3 ชม.ทั้งกลางวันและกลางคืน จนกระทั่งลูกอายุ 2 ขวบ จึงเลิกปั๊มตอนกลางคืน แค่ให้ลูกนอนดูดเต้าทั้งคืน ส่วนกลางวันก็ปั๊มยืดเวลาเป็น 4 ชม. จึงทำให้ปริมาณน้ำนมยังมีอยู่จนลูกอายุ 6 ขวบ 11 เดือนค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ท่านใดเป็นคุณแม่ฟลูไทม์ ลูกได้ดูดเต้าตลอด ไม่จำเป็นต้องปั๊มนมทำสต๊อก ก็มีน้ำนมให้ลูกกินได้ตลอดค่ะ

ที่มาจาก เพจนมแม่ ป้าหมอสุธีรา
https://www.facebook.com/SuthiRaXeuxPhirocnKic/