นักวิจัยแนะนำ อ่านนิทานตั้งแต่แรกเกิด ช่วยพัฒนาทางสมอง ไปสู่ความเฉลียวฉลาด

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/นักวิจัยแนะนำ อ่านนิทานตั้งแต่แรกเกิด ช่วยพัฒนาทางสมอง ไปสู่ความเฉลียวฉลาด
นักวิจัยแนะนำ อ่านนิทานตั้งแต่แรกเกิด ช่วยพัฒนาทางสมอง ไปสู่ความเฉลียวฉลาด

ค้นหาคำตอบ เมื่อนักวิจัยแนะนำให้ อ่านนิทานตั้งแต่แรกเกิด แล้วคุณแม่สงสัยว่า อ่านอีบุ๊กให้ลูกฟังจะได้ผลเหมือนกันมั้ย

คุณแม่อ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นประจำกันหรือเปล่าคะ ถ้าไม่ค่อยได้อ่าน ขอแนะนำให้อ่านอย่างสม่ำเสมอค่ะ โดยวิทยาลัยกุมารแพทย์อเมริกันในสหรัฐอเมริกาแนะนำให้คุณแม่ อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่แรกคลอด เหตุผลคือวัยแรกเกิดจนถึง3 ปี เป็นช่วงที่เด็กมีการพัฒนาทางสมองรวดเร็วมาก การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังไม่รู้ภาษาจะทำให้สมองของเขารับรู้คำศัพท์ได้มากกว่าปกติ โดยการรับรู้เช่นนี้จะเป็นช่องทางไปสู่ความเฉลียวฉลาด และความได้เปรียบในการเรียนรวมถึงการใช้ชีวิต

ผลการวิจัยพบว่า เมื่ออายุ 3 ปี เด็กที่ได้ฟังคุณพ่อคุณแม่อ่านนิทานเป็นประจำจะจดจำคำศัพท์ได้มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ฟังนิทานหลายเท่า

เลือกอ่านอีบุ๊ก ให้ลูกฟังดีมั้ย

เมื่อนักวิจัยแนะนำเช่นนี้ ก็เกิดคำถามหนึ่งขึ้นมาคือ อ่านอีบุ๊กให้ลูกฟังดีมั้ย เนื่องจากยุคนี้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเครื่องเดียวก็สามารถบรรจุหนังสือในรูปแบบอีบุ๊กไว้ได้มากมาย เรื่องนี้นักวิจัย ยังไม่ฟันธง เพราะระยะเวลาการศึกษายังน้อยไป เมื่อเทียบกับการเก็บสถิติเรื่องการอ่านหนังสือเล่ม ที่ทำการศึกษามากว่า20 ปี แต่อันดับแรกคือ หากอ้างอิงจากการที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์ ก็ยังไม่ควรให้เด็กวัยนี้ใช้แท็บเล็ตเช่นกัน นอกจากนี้การอ่านหนังสือที่เป็นเล่มจะส่งผลดีมากกว่าในเรื่องการทำงานร่วมกันระหว่างสายตานิ้วมือและแขน จากการที่เด็กๆ ได้ใช้มือเปิดพลิกหน้าหนังสือไปมา

ความแตกต่างระหว่างการอ่านหนังสือเล่มกับอีบุ๊ก

ส่วนในวัย 3-5 ปี มีการเก็บข้อมูลจากนักจิตวิทยาประจำโรงพยาบาลเด็กแห่งนครฟิลาเดลเฟีย ปรากฏว่าเด็กอายุ3-5 ปี ที่คุณพ่อคุณแม่อ่านอีบุ๊กให้ฟัง มีผลการเข้าใจเรื่องที่อ่านต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันที่พ่อแม่อ่านหนังสือเล่มเหตุผลเพราะว่าขณะอ่านคุณแม่มักต้องคอยระวังไม่ไห้เด็กๆ ใช้นิ้วจิ้มหน้าจอ ปัดเครื่องตก หรือดึงเครื่องไปเล่น ทำให้ความสนใจไปอยู่ที่อุปกรณ์การอ่าน จนทั้งคุณแม่คุณลูกไม่มีสมาธิมากพอที่จะสนใจเนื้อเรื่อง

ในขณะที่เวลาอ่านหนังสือเล่ม คุณแม่มักยอมให้เด็กสัมผัสกับหนังสือ พร้อมทั้งแสดงสีหน้าท่าทางประกอบการอ่าน รวมทั้งทำเสียงสูงๆ ต่ำๆ ตามเนื้อเรื่องซึ่งเมื่อลูกเห็นท่าทางประกอบนี้สมองก็จะได้รับการกระตุ้นเพื่อให้รับรู้ การรับรู้นี้จะทำให้สมองมีการพัฒนาที่รวดเร็วและในที่สุดก็ทำให้เข้าใจเรื่องที่ฟัง นำไปสู่พัฒนาการด้านการอ่านและการเรียนรู้ โดยการอ่านควรจะต้องทำเป็นประจำทุกๆ วัน

หนังสือกึ่งของเล่น ทางเลือกที่น่าสนใจ

ในเมื่ออีบุ๊กไม่เหมาะกับเด็กเล็กๆ แต่บางครั้งหนังสือเล่มก็น่าเบื่อเกินไปสำหรับลูก ทางเลือกที่น่าสนใจคือ หนังสือที่เป็นกึ่งของเล่น โดยในเด็กเล็กๆ ที่อายุยังไม่ถึง 1 ปี ควรเลือกหนังสือที่ไม่ขาดง่าย มีสีสันสดใส อย่างหนังสือที่เปียกน้ำได้ ให้เขาถือเล่นระหว่างอาบน้ำ เพื่อปลูกฝังความรู้สึกว่าหนังสือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ หนังสือที่เหมาะกับลูกวัย 1-2 ปี คือนิทานสั้นๆ ที่เป็นคำคล้องจอง กล่าวถึงเรื่องง่ายๆ ใกล้ๆ ตัว เรื่องเกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน เรื่องเกี่ยวกับสัตว์ เด็กบางคนสามารถจดจำข้อความที่เคยฟังได้และทำท่าอ่านเลียนแบบคุณแม่ คุณแม่ควรแสดงท่าทีสนใจ ตั้งใจฟังเขาจะได้ภาคภูมิใจ และรู้สึกดีกับการอ่านหนังสือ

พอถึงวัย 3-5 ปี หนังสือกึ่งของเล่น เช่นหนังสือป๊อปอัพ หนังสือที่มีการเจาะกระดาษไว้เป็นช่องให้เปิดดู หรือมีปุ่มที่กดแล้วมีเสียงออกมา อาจเป็นเสียงพูดหรือเสียงดนตรีจะช่วยดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี นอกจากนี้อาจเพิ่มความสนุกในการอ่านด้วยอุปกรณ์ประกอบ เช่น ตุ๊กตาหรือหุ่นมือ ระหว่างที่อ่านนั้นหากคุณแม่สอดแทรกความรู้ด้วยการพูดคุยกับเกี่ยวกับความหมายของคำ หรือสำนวนต่างๆ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านได้ดียิ่งขึ้น

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก