พัฒนาสมองลูก วัยแรกเกิด-3 ปี ด้วยเสียงดนตรี

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/พัฒนาสมองลูก วัยแรกเกิด-3 ปี ด้วยเสียงดนตรี
พัฒนาสมองลูก วัยแรกเกิด-3 ปี ด้วยเสียงดนตรี

มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าเสียงดนตรี โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิก มีส่วนช่วยในการพัฒนาสมองของทารก โดยเฉพาะช่วงวัยแรกเกิด-3 ปี ที่สมองของลูกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นแล้ว ดนตรียังช่วยปรับพฤติกรรมเด็กที่มีปัญหาไม่อยู่นิ่ง ซนผิดปกติได้ โดยมีการทดลองเปิดเพลงคลาสสิกให้เด็กฟังในขณะทำกิจกรรมต่างๆ พบว่าทำให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น

ดนตรีกับการเรียนรู้และพฤติกรรมของเด็ก
หนึ่งในงานวิจัยที่ โด่งดังเกี่ยวกับเรื่องผลของดนตรี ที่มีต่อพัฒนาการทางด้านสมองของเด็กก็คือ ‘Mozart Effect’ระบุว่า ดนตรีของโมสาร์ตและดนตรีที่มีจังหวะ 60 เคาะต่อนาที ช่วยเพิ่มระดับไอคิวให้เด็กๆ ได้โดยขณะที่ฟังดนตรีในสมองของเด็กจะเกิดคลื่นสมองอัลฟ่า (Alpha) ซึ่งเป็นคลื่นสมองที่จะเกิดขึ้นในขณะที่สมองและร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย มีสมาธิทำให้เด็กๆ มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ จดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจของ American Music Conference ที่พบว่าวัยรุ่นที่เล่นดนตรีมักมีปัญหาด้านระเบียบวินัยน้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่นดนตรีถึง73 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เนื่องจากการเล่นดนตรีต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เด็กที่เล่นดนตรีมีระเบียบวินัยในการทำสิ่งต่างๆ ไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีที่เกิดขึ้นโดยที่เด็กๆ ไม่รู้ตัว

เริ่มต้นฟังเพลงแบบไหนดี
เห็นข้อดีของดนตรีแล้ว คุณพ่อคุณแม่คงอยากเริ่มให้ลูกรักในเสียงดนตรี ถ้าจะให้ดีคุณพ่อคุณแม่ควรฟังเพลงไปพร้อมๆกับลูกด้วยนะคะ สำหรับการเริ่มต้น ยังไม่ต้องนึกถึงเพลงคลาสสิก หรือเพลงที่ได้รับคำแนะนำว่าช่วยพัฒนาสมองเด็กหรอกค่ะ เริ่มจากเพลงน่ารักๆ ที่เหมาะกับเด็กหรือเพลงบรรเลงที่มีจังหวะช้า นุ่มนวล ทำนองดนตรีค่อนข้างสม่ำเสมอ ลื่นไหลต่อเนื่องกันไปตลอดเพลง ฟังแล้วมีความสุข รู้สึกสบายก็ได้ค่ะ

เลือกฟังดนตรีให้สอดคล้องกับวัย
และเพื่อให้การฟังดนตรีมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรเลือกดนตรีและเพลงให้ตรงกับความชอบของเด็กแต่ละวัยด้วยนะคะ

– วัยแรกเกิด-6เดือน เด็กทารกมักชอบเสียงที่มีระดับเสียงสูงๆ ทำให้เสียงดนตรีจากกล่องเพลงและของเล่นที่มีเสียงกรุ๋งกริ๋ง เป็นที่โปรดปรานของเด็กๆ วัยนี้มาก ลองเปิดให้ลูกฟังสิคะ พอได้ยินเสียงนี้เขาจะอารมณ์ดี นอกจากนี้ทารกยังชอบฟังเสียงของคุณแม่ที่สุด เวลาที่คุณแม่ร้องเพลงกล่อมเขาจึงรู้สึกผ่อนคลายและเพราะเด็กวัยนี้ชอบฟังเสียงสูงๆ ในช่วงแรกเกิด-3 เดือน คุณแม่ควรร้องเพลงกล่อมด้วยระดับเสียงที่สูงกว่าเสียงพูดปกติเล็กน้อย พอถึงวัย 6 เดือน นอกจากเสียงคุณแม่และเสียงเพลงแล้ว เสียงที่เจ้าตัวเล็กชอบที่สุดก็คือ เสียงของตัวเขาเอง เขาจึงสนุกกับการส่งเสียงอ้อแอ้มาก

– วัย 7-12 เดือน พอถึงวัยนี้เด็กๆ จะเก่งถึงขั้นเวลาได้ยินเสียงเพลงที่คุณพ่อคุณแม่เปิดให้ฟัง หรือร้องกล่อมเขาเป็นประจำ ก็จะพยายามส่งเสียงตาม แม้จะยังไม่สามารถออกเสียงเป็นคำที่มีความหมายได้แต่เขาจะสนุกมาก เพื่อส่งเสริมให้ลูกรักดนตรีมากขึ้น ลองหาของเล่นที่เขย่าแล้วเกิดเสียงดัง หรือวัสดุที่ขนาดพอเหมาะกับมือของลูกให้เขาได้ถือ ได้เคาะเล่นเด็กๆ จะได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่างของเสียงที่เกิดจากแหล่งต่างๆ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างแรงที่ใช้กับความดังของเสียงด้วย

– วัย 1-3 ปี สำหรับเด็กวัยนี้กิจกรรมดนตรีจะช่วยในการพัฒนาทักษะการฟัง การออกเสียง และการเคลื่อนไหว ไปพร้อมๆ กัน สังเกตง่ายๆ เวลาได้ยินเสียงเพลงจังหวะสนุกๆ เขาจะขยับแขนขา ปรบมือตามจังหวะ การฟังดนตรีสำหรับลูกวัยนี้ จึงช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหว ให้พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่มัดเล็กของแขน ขา มือ เท้า ได้ด้วย

ลูกวัยนี้เริ่มมีความสนใจในเรื่องดนตรีมีสมาธิพอที่จะฟังดนตรีอย่างสม่ำเสมอได้ หากอยากให้ลูกหัดเล่นดนตรี วัย 3 ขวบนี้เหมาะที่สุดสำหรับการเริ่มต้น มีการพิสูจน์มาแล้วว่า เด็กที่คุณพ่อคุณแม่เปิดเพลงให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เมื่อหัดเล่นดนตรี จะเรียนรู้ได้เร็วกว่าเด็กที่ไม่คุ้นเคยกับเสียงดนตรีมาก่อน

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก