ทำความเข้าใจเรื่อง โกนผมไฟ กับ กระบวนการผลัดผม ของเบบี๋

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/ทำความเข้าใจเรื่อง โกนผมไฟ กับ กระบวนการผลัดผม ของเบบี๋
ทำความเข้าใจเรื่อง โกนผมไฟ กับ กระบวนการผลัดผม ของเบบี๋

เคยสงสัยมั้ยคะว่าทำไมในวัยแรกเกิด-1 ปี เด็กบางคนมีเส้นผมดกเต็มศีรษะ แต่บางคนผมบางแถมยังไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นสักที บางคนตอนคลอดใหม่ๆ ก็มีผมดกแต่จู่ๆ ก็เกิดผมร่วง จนเกิดเป็นรอยแหว่งที่เรียกว่าผ้าอ้อมกัด ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านอาจบอกว่าเป็นเพราะไม่ได้ โกนผมไฟ เรื่องนี้เป็นแค่ความเชื่อหรือความจริง ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจ กระบวนการผลัดผมของเบบี๋กันค่ะ

เข้าใจกระบวนการผลัดผมของเบบี๋
ช่วงวัย 3-6 เดือนถ้าคุณแม่สังเกตดีๆ จะพบว่า ลูกผมร่วงหรือผมบางลงกว่าช่วงแรกคลอด บางคนผมในบริเวณที่ร่วงไปไม่ยอมขึ้นมาใหม่ซักที จนเกิดเป็นรอยแหว่งที่เรียกว่าผ้าอ้อมกัด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเส้นผมที่ติดตัวลูกมาตั้งแต่แรกเกิด ค่อยๆ เสื่อมสภาพจนหลุดร่วงไป เป็นกลไกการผลัดผมเพื่อให้เส้นผมชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ ซึ่งบางคนก็ใช้เวลานาน
กลไกการผลัดผมนี้จะเกิดอีกครั้งตอนลูกอายุ 3 ปี แต่ในช่วงนั้นผมของลูกมักขึ้นเต็มศีรษะและยาวแล้วเราจึงไม่ค่อยสังเกตเห็นกระบวนการผลัดผมรอบนี้ วิธีสังเกตก็คือ ในวัย 3 ปี เส้นผมของเด็กๆ จะดูหนาและเส้นใหญ่ขึ้น ผมชุดใหม่นี้จะมีเซลล์รากผมที่แข็งแรงขึ้น ไม่ขาดร่วงง่ายๆ แบบในวัยทารกแล้วล่ะค่ะ

ทำไมเด็กที่ โกนผมไฟ จึงดูผมดก
แม้จะบอกว่าการที่เด็กผมบางเป็นเพราะกระบวนการผลัดผม แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เด็กที่โกนผมไฟ จะมีผมดกกว่าเด็กที่ไม่ได้โกนผมไฟ ความจริงแล้วผมของลูกจะดกหรือไม่ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมค่ะ แต่ที่เราเห็นว่าเด็กที่โกนผมไฟมีผมดกกว่า เป็นเพราะผมที่ขึ้นมาใหม่หลังจากโกนผมไฟมักจะเส้นใหญ่ แข็ง และมีสีเข้มกว่าผมที่ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิด ทำให้ดูเหมือนว่าผมหนาดกขึ้น การโกนผมไฟจึงเป็นสิ่งที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ค่ะ เพราะไม่มีผลต่อสุขภาพของลูกแต่อย่างใด แต่ถ้าจะโกนต้องทำด้วยความระมัดระวัง
ซึ่งข้อดีอย่างหนึ่งของการโกนผมไฟคือ เรื่องของการดูแลรักษาความสะอาด เนื่องจากศีรษะของทารกแรกเกิดมักมีไข เวลาที่โกนผมไฟไปแล้วการทำความสะอาดจะทำได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าไม่ได้โกนแนะนำให้ใช้สำลีชุบเบบี้ออยล์ หรือวาสลินเช็ดทำความสะอาดบ่อยๆ อย่าปล่อยให้ไขแห้งแข็งติดที่เส้นผมของลูกนะคะ

ดูแลเส้นผมลูกวัยซน
เมื่อลูกโตขึ้นผมก็จะขึ้นจนเต็มศีรษะในวัย 3 ปี ผมของเด็กจะมีประมาณ 100,000 เส้น แม้ผมของเด็กที่ขึ้นมาใหม่นี้จะแข็งแรงกว่าเดิม ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาผมร่วง แต่การเสียดสีของหวีกับเส้นผมก็อาจทำให้ผมขาดง่าย ถ้าจะแปรงผมให้ลูกควรใช้แปรงสำหรับแปรงผมเด็กค่ะ
ในส่วนของการดูแลความสะอาดทั้งเส้นผมและหนังศีรษะของลูก สำหรับเด็กเล็กๆควรสระผมด้วยน้ำอุ่น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ถ้าอากาศร้อนลูกมีเหงื่ออกมากก็สระบ่อยขึ้นได้ แต่ไม่ควรสระผมในช่วงเวลาก่อนนอน เพราะถ้าเช็ดผมไม่แห้งอาจจะทำให้เด็กป่วยได้ง่าย และยังเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อราบนหนังศีรษะด้วย

เมื่อผมลูกขึ้นเต็มศีรษะแล้ว คุณแม่คงอยากจัดแต่งทรงผมน่ารักๆ ให้กับลูก ต้องไม่ลืมนะคะว่า นอกจากความสวยงามแล้ว การมีทรงผมที่ง่ายต่อการดูแลรักษาเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กๆ ที่มักออกไปวิ่งเล่นจนเหงื่ออกชุ่ม ยิ่งเด็กผู้หญิงด้วยแล้วผมยาวๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหวได้ ควรรวบผมไว้ให้เรียบร้อยก่อนออกไปเล่นนะคะ และเมื่อกลับมาแล้วต้องสระผมให้สะอาดด้วย

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก