เช็กลิสต์ ตรวจสอบความปลอดภัยในบ้าน เพื่อ ปกป้องลูกน้อยจากอุบัติเหตุใกล้ตัว

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/เช็กลิสต์ ตรวจสอบความปลอดภัยในบ้าน เพื่อ ปกป้องลูกน้อยจากอุบัติเหตุใกล้ตัว
เช็กลิสต์ ตรวจสอบความปลอดภัยในบ้าน เพื่อ ปกป้องลูกน้อยจากอุบัติเหตุใกล้ตัว

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุสำหรับผู้ใหญ่เรามักคิดถึงภัยที่เกิดนอกบ้าน อย่างอุบัติเหตุบนท้องถนน รถชน ฯลฯ แต่สำหรับเด็กๆ แล้ว สถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดอย่างบ้านนี่ล่ะค่ะ เป็นจุดที่เกิดเหตุได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะวัยคลาน ที่เจ้าตัวเล็กจะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายพาตัวเองไปยังที่ต่างๆ ทั่วบ้าน และวัยหัดเดินที่แม้เขาจะเดินได้เก่งแต่ก็ยังขาดทักษะด้านการระวังตัวอยู่มาก แถมด้วยความอยากรู้อยากเห็นที่เต็มเปี่ยมจึงเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย แม้ในจุดที่คุณแม่คิดว่าปลอดภัยที่สุดอย่างในเปลก็ยังอาจเกิดเหตุการณ์ที่ศีรษะของเด็กลอดออกมาติดซี่ลูกกรง หรือจากการที่ลูกปีนป่ายเพื่อหาทางออกมาข้างนอกแล้วพลัดตกได้

มาตรวจสอบความปลอดภัยในบ้านเพื่อ ปกป้องลูกน้อยจากอุบัติภัยเหตุใกล้ตัว กันดีกว่าค่ะ

บันได – พื้นที่ต่างระดับ

หลายๆ บ้านได้รับการออกแบบมาให้มีพื้นที่เล่นระดับ เพื่อความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย แต่หากมีเด็กเล็กๆ แล้วล่ะก็คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยระวัง เพราะลูกอาจพลัดตกได้ และอีกตำแหน่งที่หนูน้อยวัยคลานโปรดปรานนักก็คือ บันได ที่เห็นเมื่อไหร่เป็นต้องปีนป่ายทุกที ควรติดตั้งประตูกั้นทางขึ้น-ลงบันไดให้แน่นหนา

โต๊ะ – เก้าอี้

โต๊ะ-เก้าอี้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังไม่แพ้บันไดเลยค่ะ ทั้งจากขอบมุมโต๊ะที่ศีรษะลูกอาจกระแทกเข้าจนเจ็บตัว และจากการที่เขาพยายามปีนขึ้นไปดูว่า บนนั้นมีอะไรแล้วพลัดตกลงมา
การติดแผ่นยางหุ้มมุมแหลมๆ ทั้งสี่ของโต๊ะไว้ จะช่วยลดแรงกระแทกเวลาเกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนเก้าอี้ประเภทพับเก็บได้หรือเก้าอี้ที่มีล้อก็เสี่ยงต่อการที่ลูกจะปีนขึ้นไป แล้วเกิดเก้าอี้พับลงมาหรือล้อเลื่อนไปจนพลัดตกลงมาต้องระวังอย่าให้เขาปีนเล่นเชียวค่ะ

ห้องครัว

สำหรับห้องครัว คุณแม่ต้องคอยระวังไม่วางของมีคมหรือภาชนะร้อนๆ ไว้ที่พื้น เพราะลูกอาจหยิบจับเล่นเป็นอันตรายได้น้ำยาต่างๆ ทั้งน้ำยาล้างจาน หรือแม้แต่ซอสปรุงรส น้ำส้มสายชู ควรเก็บใส่ตู้หรือในที่ที่ลูกหยิบไม่ถึงเพราะเขาอาจนำมารับประทานได้ และต้องระวังไม่ให้สายไฟของอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่นกระติกน้ำร้อน ห้อยตกลงมาที่พื้นเพราะลูกอาจดึงกระติกตกลงมาจนถูกน้ำร้อนลวก

ปลั๊กไฟ-สายไฟ

นอกจากต้องระวังไม่ให้สายไฟของอุปกรณ์ต่างๆ ห้อยตกลงมาที่พื้นแล้วไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ เต้าเสียบที่อยู่ใกล้พื้นก็ควรหาเทปกาวมาติดให้แน่นหนา หรือจะหาพลาสติกสำหรับปิดเต้าเสียบที่มีขายตามห้างสรรพสินค้ามาใช้ก็ได้ แต่ต้องทดสอบให้แน่ใจก่อนว่า เมื่อเสียบไว้แล้วลูกจะไม่สามารถแกะออกได้

ห้องน้ำ-อ่างอาบน้ำ

ก่อนอาบน้ำให้ลูกคุณแม่ควรเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ให้พร้อม จะได้ไม่ต้องลุกไปหยิบบ่อยๆ เพราะการปล่อยเด็กไว้ในอ่างอาบน้ำหรือห้องน้ำตามลำพังแม้เพียงชั่วครู่ ก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งจากการลื่นล้ม การที่ลูกเอาสบู่ แชมพูน้ำยาล้างห้องน้ำมาเล่นจนเข้าตาหรือถึงขั้นกินเข้าไปซึ่งเป็นอันตรายมาก และอย่าคิดว่าแค่น้ำในอ่างอาบน้ำเล็กๆ จะไม่มีอันตราย เพราะหากเด็กหน้าคว่ำลงไปก็จะสำลักน้ำ หรือถึงขั้นจมน้ำเสียชีวิตได้

เปล-คอกกั้น

เปล-คอกกั้นนับเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่สำหรับลูกวัยนี้เขาอาจนอนดิ้นหรือตื่นมาตอนคุณแม่ไม่อยู่ใกล้ๆ แล้วพยายามหาทางออกมาข้างนอก ไปจนถึงการที่ศีรษะของลูกไปติดกับซี่ลูกกรงจนขาดอากาศหายใจ เพื่อไม่ให้เขาเอาศีรษะลอดออกมาจากซี่ลูกกรงนั้นได้ ความกว้างของซี่ลูกกรงต้องไม่เกิน 9 เซนติเมตรนะคะและควรสำรวจให้แน่ใจว่าไม่มีอุปกรณ์ที่จะช่วยให้ลูกปีนป่ายออกมาได้

รถหัดเดิน

รถหัดเดินไม่ได้ช่วยให้ลูกเดินได้เร็วขึ้นอย่างชื่อของมันเลยค่ะ แถมยังทำให้มีพัฒนาการการเดินช้าลงด้วย เพราะขณะที่เด็กนั่งในรถหัดเดินนั้น เท้าของเขาจะไม่ถึงพื้นเต็มเท้า การเดินไปข้างหน้าจึงเป็นไปในลักษณะของการเขย่งเท้าไปข้างหน้า กล้ามเนื้อน่องต้องทำงานอย่างหนัก ทั้งยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุล้ม พลิกคว่ำก็สูงมาก มีคุณแม่บางคนใช้รถหัดเดินเพื่อจำกัดพื้นที่ไม่ให้ลูกคลานไปไกล หรือใช้เวลาป้อนข้าวลูกเพื่อให้เขาอยู่นิ่งๆ ในรถ หากจะใช้ก็ควรมีคุณแม่อยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลา แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงไปเลือกใช้โต๊ะกินข้าวสำหรับเด็กดีกว่าค่ะ

ของเล่น

แม้แต่ของเล่นก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ ควรระวังของเล่นที่มีชิ้นส่วนเล็กๆ แยกส่วนออกจากกันง่าย ของเล่นที่มีลักษณะเป็นเส้นเชือกยาวๆ และของเล่นทาสีที่สีอาจหลุดออกได้เพื่อความปลอดภัยก่อนเลือกซื้อของเล่นให้ลูกควรสังเกตเครื่องหมายมาตรฐานหรือสัญลักษณ์ต่างๆ ที่แสดงว่าของล่นนั้นมีความปลอดภัย ได้มาตรฐาน เช่น เครื่องหมาย มอก., สังเกตว่าของเล่นนั้นเหมาะกับเด็กวัยใด โดยดูจากคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลาก เช่น สำหรับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป รวมทั้งอ่านคำเตือน รายละเอียดอื่นๆ เช่น ม้าโยกรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัม, ระวังเด็กนำถุงบรรจุภัณฑ์ไปครอบศีรษะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก