วิธีสังเกตลูกแค่แหวะนม หรือ อาเจียน อาการแบบไหนที่ต้องระวังและวิธีแก้ไข

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/วิธีสังเกตลูกแค่แหวะนม หรือ อาเจียน อาการแบบไหนที่ต้องระวังและวิธีแก้ไข
วิธีสังเกตลูกแค่แหวะนม หรือ อาเจียน อาการแบบไหนที่ต้องระวังและวิธีแก้ไข

แหวะนม ในทารกเป็นเรื่องที่พบบ่อยจนคุณแม่หลายๆ คนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในทารกวัยแรกเกิด-4 เดือน เนื่องจากกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะของเขายังทำงานได้ไม่ดี ทารกบางคนแหวะนมแทบทุกครั้งหลังดูดนมหากน้ำนมออกมาเพียงเล็กน้อย และเขายังคงอารมณ์ดี แข็งแรง น้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ก็ไม่น่ากังวลค่ะ อาการนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่ออายุ3-4 เดือนและหายไปได้ในช่วง 10-12 เดือนแต่ถ้าลูกแหวะนมออกมาแรงๆ ปริมาณนมออกมามากจนเข้าข่ายอาเจียนก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ

วิธีสังเกตลูกแค่แหวะนมหรืออาเจียน

จัดการลมในท้องตัวการหลัก

การแหวะนม ไม่ได้หมายความว่าลูกกินนมมากจนอาเจียนเสมอไปหรอกนะคะ เพราะสาเหตุหลักมาจากการที่ทารกดูดลมเข้าไปในระหว่างดูดนมค่ะ การแหวะนมจึงพบบ่อยในทารกที่คุณแม่เลี้ยงด้วยนมขวด จึงควรเลือกขวดนมและจุกนมที่มีขนาดเหมาะสม เวลาป้อนนมขวดให้ลูกควรระวังอย่าให้เขาดูดลมเข้าไป แต่เด็กที่ดูดนมจากอกแม่ก็แหวะนมได้ค่ะ ดังนั้น ไม่ว่าจะให้นมแบบไหน หลังจากที่ลูกกินนมเสร็จคุณแม่ควรอุ้มลูกขึ้นนั่งหรืออุ้มพาดบ่าแล้วลูบหลังเบาๆให้เขาเรอออกมาจะช่วยลดปัญหาการแหวะนมได้ แต่บางครั้งลูกอาจเรอโดยมีน้ำนมส่วนหนึ่งออกมาพร้อมกับลมก็ได้ค่ะ

พักครึ่งระหว่างกินนมช่วยได้

หากทำอย่างไรลูกก็ไม่ยอมเรอสักทีอาจเป็นได้ทั้งจากการที่เขาเรอออกมาโดยไม่มีเสียงและไม่ได้เรอจริงๆ ก็ได้ หากไม่แน่ใจควรอุ้มเขาเดินเล่นสักพักก่อนอย่าเพิ่งให้นอน แต่ถ้าจะให้นอน ควรให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลักหากเขาแหวะออกมา
เคล็ดลับการป้อนนมที่ช่วยลดการแหวะนมสำหรับเด็กที่ดูดนมขวดก็คือให้เขากินนมเพียงครึ่งเดียวก่อนแล้วจับให้เขานั่งเอียงตัวประมาณ 30 องศาสักพักหนึ่งก่อนที่จะลูบหลังให้เขาเรอแล้วค่อยให้กินนมต่อจึงจับให้เรออีกครั้งสำหรับเด็กที่ดูดนมจากอกแม่ควรสลับข้างที่ดูด โดยไล่ลมด้วยวิธีการเดียวกันก่อนที่จะให้เขาดูดนมอีก

ความแตกต่างระหว่างการแหวะนมและอาเจียน

การแหวะนมที่มีน้ำนมออกมาเล็กน้อยต่างจากการอาเจียน หากลูกแหวะนมออกมาแรงๆแถมมีปริมาณมากอย่างนี้เข้าข่ายอาเจียนแล้วล่ะค่ะซึ่งก็เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่นมีแก๊สในกระเพาะมากการที่เขาได้รับน้ำนมมากเกินความต้องการการอาเจียนโดยที่ไม่ได้มีอาการเจ็บป่วย คืออาเจียนเพียงครั้งเดียวแล้วหยุด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้นานๆ ครั้ง แต่เวลาอาเจียนพุ่งทั้งคุณแม่และลูกอาจตกใจ คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจตามเขานะคะ ค่อยๆ ปลอบโยน เช็ดทำความสะอาดคราบอาเจียนที่ค้างในปาก จมูก ตามตัว หากหลังจากนั้นลูกยังสามารถเล่นได้ตามปกติ กินนมมื้อต่อไปได้ ก็ไม่น่าห่วงค่ะ

อาการแหวะนม แบบไหนที่ต้องระวัง

แต่ถ้าลูกอาเจียนหลายครั้งใน 1 วันอาเจียนมีกลิ่นเหม็น มีสีเขียว-เหลืองของน้ำย่อย-น้ำดี หรือมีเลือดปนออกมา มีอาการท้องเสีย มีไข้ ร้องไห้ไม่หยุด อาจเกิดจากการติดเชื้อทางเดินอาหาร แพ้สารอาหารบางชนิดที่ส่งผ่านทางน้ำนมแม่ หรือเกิดจากโรคอื่นๆ ในระบบย่อยอาหาร กระเพาะ ลำไส้ ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก