6 เทคนิคฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ฝึกตั้งแต่ยังเป็นทารกง่ายกว่า

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/6 เทคนิคฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ฝึกตั้งแต่ยังเป็นทารกง่ายกว่า
6 เทคนิคฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ฝึกตั้งแต่ยังเป็นทารกง่ายกว่า

คาร์ซีทเป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่สำคัญมากสำหรับทารกและเด็กเล็ก ช่วยให้คุณแม่ได้พักขณะนั่งรถที่คุณพ่อขับรถ อีกทั้งยังช่วยให้คุณแม่สามารถไปไหนมาไหนกับน้องเพียงลำพังสองคนได้อีกด้การ ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท เริ่มทำตั้งแต่ยังเป็นทารกย่อมง่ายกว่าเริ่มเมื่อโต ยิ่งให้นั่งตั้งแต่วันแรกที่ออกจากโรงพยาบาลเลย ปัญหาก็จะน้อย โดยคุณแม่ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ได้เลย

6 เทคนิคฝึกลูกนั่งคาร์ซีท

  1. ใช้ผ้าห่อ กรณีทารก 0-3 เดือน คุณแม่ควรใช้ผ้าห่อตัวเพื่อให้น้องรู้สึกอบอุ่นและรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่ สำหรับเด็กอายุ 4 เดือนขึ้นไป ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าห่อ เพียงแต่คุณแม่ต้องแน่ใจว่าน้องสบายตัว ไม่หนาวหรือร้อนเกินไป
  2. นำน้องวางในคาร์ซีทและอธิบาย แม้น้องจะยังฟังไม่รู้เรื่องแต่การอธิบายก็ช่วยให้น้องสบายใจ ยิ่งอธิบายด้วยน้ำเสียงอบอุ่นเมตตาซ้ำๆ น้องจะจดจำได้ เพราะสิ่งที่แม่พูดจะซึมซับลงไปในจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกของน้อง น้องจะค่อยๆ เข้าใจความหมายได้เองในภายหลัง
  3. จัดท่าให้เหมาะสม หากน้องอายุต่ำกว่า 5 เดือน หรือยังไม่หัดนั่ง คุณแม่ต้องปรับคาร์ซีทให้อยู่ในท่านอน เพราะหากปรับอยู่ในท่านั่ง กล้ามเนื้อหลังและสะโพกของน้องต้องรับน้ำหนักกดทับเป็นเวลานานทั้งๆ ที่ร่างกายยังไม่พร้อม อาจทำให้น้องเมื่อยและร้องกวนได้
  4. ตรวจดูเมื่อร้อง หากให้ลูกนั่งคาร์ซีทแล้วร้องไห้งอแง คุณแม่ต้องเข้าไปตรวจดูว่ามีปัจจัยที่ทำให้ลูกไม่สบายตัวหรือเปล่า เช่น ผ้าอ้อมแฉะ หิว ร้อน หนาว ง่วง มีแมลงกัด ท้องอืด ป่วย นอกจากนี้คุณแม่ต้องเช็คด้วยว่าน้องอยู่ในท่าที่สบาย เมื่อแน่ใจว่าปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนที่ 5 ได้เลย
  5. เพิกเฉย หากคุณแม่แน่ใจว่าน้องสบายตัวดีทุกอย่าง แต่ยังร้องไห้ นั่นหมายความว่าน้องกำลังร้องไห้เพราะอยากออกจากคาร์ซีท ซึ่งนับว่าเป็นการร้องไห้ชนิด ‘เอาแต่ใจ’ หรือที่นักจิตวิทยาเด็กบางคนเรียกว่าร้องไห้แบบ ‘จักรพรรดิน้อย’ และวิธีที่นักจิตวิทยาเด็กแนะนำให้ทำเมื่อลูกร้องไห้แบบจักรพรรดิ์น้อย คือ เพิกเฉย โดยคุณแม่จะต้องไม่สนใจ ไม่มอง ไม่พูด ไม่สบตา ปล่อยให้ร้องจนกว่าจะเงียบเอง เมื่อถึงจุดนี้น้องก็จะเรียนรู้แล้วว่าร้องไปก็ไม่ได้ออกจากคาร์ซีท น้องจะปรับตัวยอมรับคาร์ซีทเอง
  6. งดหน้าจอขณะนั่งคาร์ซีท การใช้หน้าจอเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับทารกอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีผู้ปกครองหลายท่านคิดว่าการใช้หน้าจอช่วยให้เด็กสงบอยู่ในคาร์ซีทได้ แต่เชื่อเถอะค่ะว่าการฝึกลูกให้นั่งคาร์ซีทโดยไม่มีหน้าจอตั้งแต่ต้นง่ายกว่าการที่ลูกติดหน้าจอแล้วมาเลิกทีหลัง