ปัจจัยความเสี่ยง คลอดก่อนกำหนด และวิธีดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดให้ปลอดภัย

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/ปัจจัยความเสี่ยง คลอดก่อนกำหนด และวิธีดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดให้ปลอดภัย
ปัจจัยความเสี่ยง คลอดก่อนกำหนด และวิธีดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดให้ปลอดภัย

หนึ่งในสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้เจ้าตัวน้อยต้องเข้ารับการรักษาในหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit: NICU) คือการ คลอดก่อนกำหนด การฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีแพทย์ที่มีประสบการณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีครบครัน ที่สำคัญคือมีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติคอยดูแล ย่อมช่วยให้คลอดเจ้าตัวน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัย

พญ. สุกัญญา ทักษพันธุ์ กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า การคลอดก่อนกำหนด (Preterm Birth) เป็นภาวะการคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ทารกเหล่านี้ถึงแม้ว่าอวัยวะต่างๆ จะครบสมบูรณ์ แต่การทำงานของอวัยวะบางส่วนอาจยังไม่ดีเท่าทารกที่ครบกำหนด ซึ่งช่วงหลังคลอดทารก มักต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลนานกว่าปกติ ทั้งนี้ ยิ่งอายุครรภ์น้อย ยิ่งพบปัญหารวมถึงภาวะแทรกซ้อนตามมามากกว่า

ปัจจัยที่ทำให้ คลอดก่อนกำหนด เกิดได้ทั้งจากมารดาและทารกในครรภ์ ประกอบไปด้วย ปัจจัยจากมารดา ได้แก่

  • 1.อายุ แม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปหรือต่ำกว่า 16 ปี
  • 2.แม่มีโรคประจำตัวต่างๆ อาทิ หัวใจ เบาหวาน หรือเป็นโรคในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
  • 3. เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
  • 4.มดลูกมีความผิดปกติ เช่น ปากมดลูกสั้น
  • 5.ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์
  • 6.การติดเชื้อ
  • ปัจจัยจากทารก เช่น ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้

สำหรับปัญหาที่สำคัญ ในทารกเกิดก่อนกำหนดคือ

การหายใจ เนื่องจากขาดสารลดแรงตึงผิวที่เคลือบอยู่ในปอดและกล้ามเนื้อในการหายใจยังไม่แข็งแรง ทำให้ทารกไม่สามารถหายใจได้เพียงพอ จึงมักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยรักษาระดับออกซิเจนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่สูงหรือต่ำเกินไป เพราะจะมีผลกระทบต่อจอประสาทตาและปอดของทารกได้

หัวใจ อาจมีปัญหาเส้นเลือดเกินทำให้มีโอกาสเกิดหัวใจล้มเหลวได้

สมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองของทารกเกิดก่อนกำหนดค่อนข้างเปราะบาง มีความเสี่ยงที่จะมีเลือดออกในสมองได้ ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก การทำอัลตราซาวนด์เพื่อประเมินภาวะเลือดออกในสมอง เป็นสิ่งที่จะต้องทำภายในช่วงสัปดาห์แรกหลังคลอด และก่อนที่จะกลับบ้าน

ลำไส้ เนื่องจากลำไส้ยังบอบบาง การย่อยและการดูดซึมอาหารยังไม่ดีนักดังนั้นในระยะแรกจึงต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดร่วมด้วย เมื่อทารกมีอาการคงที่จึงเริ่มให้นมโดย คุณแม่อาจเข้ามามีบทบาทช่วยได้ในเรื่องของนมแม่ เพราะข้อดีของนมแม่คือย่อยง่ายและมีภูมิต้านทานโรค ลดการเกิดภาวะลำไส้อักเสบ

ดวงตา จอประสาทตาของทารกเกิดก่อนกำหนดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ จึงต้องได้รับการตรวจประเมินจอประสาทตาเป็นระยะโดยจักษุแพทย์

การติดเชื้อ ทารกที่เกิดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ไม่เต็มที่ การล้างมือก่อนสัมผัสทารกตลอดจนเทคนิคปราศจากเชื้อต่างๆจึงมีความสำคัญอย่างมาก หู ทารกเกิดก่อนกำหนดจะต้องได้รับการตรวจประเมินการได้ยินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยินด้วย

ด้านการรักษา เน้นการวางแผนการรักษาร่วมกันของสูติ-นรีแพทย์และกุมารแพทย์ทารกแรกเกิดและปริกำเนิด และมีการแจ้งคุณพ่อคุณแม่ถึงขั้นตอนการรักษา ตั้งแต่ก่อนคลอด และหลังคลอด โดยหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ จะคอยให้ข้อมูล อธิบายรายละเอียดและให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ ติดตามอาการของทารกอย่างสม่ำเสมอ ดูแลรักษาทารกจนมีน้ำหนักตัวไม่ต่ำกว่า 2,000 กรัม มีอาการคงที่ดูดนมได้ดีจึงจะกลับบ้านได้ โดยจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับคุณพ่อคุณแม่ก่อนกลับบ้าน หลังจากนั้นจะมีการติดตามอาการเป็นระยะโดยเฉพาะเรื่องการเจริญเติบโตและพัฒนาการ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ

การวางแผนก่อนตั้งครรภ์และฝากครรภ์ในโรงพยาบาลที่มีหน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทารกที่ คลอดก่อนกำหนด จะได้รับการดูแลที่ถูกต้องตั้งแต่แรกคลอดโดยแพทย์และพยาบาลที่มีความชำนาญในด้านทารกแรกเกิดโดยเฉพาะ เพื่อเฝ้าระวังและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ตลอดจนมีเครื่องมือที่พร้อมในการดูแลทารกแรกเกิดเหล่านี้ เพื่อกลับไปใช้ชีวิตและเติบโตอย่างสมวัย