วิธีดูแลผิวทารกเมื่อเกิด ผื่นแพ้ ผื่นผ้าอ้อม

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/วิธีดูแลผิวทารกเมื่อเกิด ผื่นแพ้ ผื่นผ้าอ้อม
วิธีดูแลผิวทารกเมื่อเกิด ผื่นแพ้ ผื่นผ้าอ้อม

ผิวหนังของทารกบอบบางจึงเกิดผื่นได้ง่ายทั้ง ผื่นแพ้ และ ผื่นผ้าอ้อม ซึ่งสองอย่างนี้มีสาเหตุ อาการ และการดูแลรักษาไม่เหมือนกันค่ะ

วิธีดูแลผิวทารกเมื่อเกิด ผื่นแพ้ ผื่นผ้าอ้อม

ความแตกต่างของผื่นแพ้ กับ ผื่นผ้าอ้อม

ผื่นแพ้มักเกิดบริเวณแก้ม หน้าผาก หรือศีรษะ แต่ก็อาจพบบริเวณลำตัว แขนขา ข้อมือ ข้อเท้าได้เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น จากการที่คุณพ่อคุณแม่มีประวัติโรคผื่นภูมิแพ้ หอบหืดหรือแพ้อากาศ หรืออาจถูกกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น จากอาหารที่คุณแม่รับประทานถูกส่งต่อไปสู่ลูกทางน้ำนมแม่ หรือสารระคายเคืองที่สัมผัสผิวของทารก เช่น ฝุ่น สารเคมีในสบู่ ครีมทาผิว น้ำยาซักผ้าเด็กนอกจากนี้อากาศที่ร้อนจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดอาการคันผิวหนังจนเกิดผื่นได้


ส่วนผื่นผ้าอ้อมนั้น เกิดจากการที่ผิวหนังบริเวณที่ถูกปกคลุมโดยผ้าอ้อมได้รับการระคายเคือง จากสิ่งต่างๆ ทั้งตัวผ้าอ้อมเอง ไปจนถึงการแพ้ส่วนประกอบของผ้าอ้อม เช่น น้ำหอมในผ้าอ้อม หรือการที่ปัสสาวะและอุจจาระอยู่ในผ้าอ้อมนานเกินไป การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา


เด็กทารกมักมีผื่นทั้งสองแบบได้ง่าย เนื่องจากผิวของเขายังบอบบางคุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตว่า ผิวของลูกน้อยมีผื่นขึ้นมั้ยลูกชอบเกา เอาแก้มหรือศีรษะถูกับหมอนหรือผ้าปูที่นอน เนื่องจากอาการคันหรือไม่

ดูแลผิวหนูเมื่อเกิดผื่นแพ้

เมื่อผิวลูกเป็นผื่นแพ้คุณแม่ต้องคอยสังเกตผิวของลูกด้วยว่า แพ้สารชนิดใด เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้ คอยระวังอย่าปล่อยให้ลูกเกาหรือเอาหน้าไปถูกับหมอนหรือที่นอนบ่อยๆ เพราะจะทำให้ผิวระคายเคืองมากยิ่งขึ้น ในช่วงที่ลูกเป็นผื่นแพ้คุณแม่ควรสังเกตด้วยว่าผิวของลูกแห้งหรือเปล่า ถ้าลูกผิวแห้งมาก ไม่ควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่นจัดๆ เพราะจะทำให้ผิวแห้งจนเกิดอาการคันมากขึ้นเลือกใช้สบู่, แชมพูที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม และมีค่า pH เป็นกลาง และใช้ในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น รวมทั้งต้องล้างฟองออกให้หมดด้วยนะคะ


หลังอาบน้ำแล้ว ใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ ซับตัวลูกเบาๆ แล้วทาผิวด้วยเบบี้โลชั่นหรือเบบี้ออยล์ทันที เพื่อเติมความชุ่มชื้นให้กับผิว สวมเสื้อผ้าที่ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย รวมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าสำหรับเด็กที่ไม่มีน้ำหอมและอ่อนโยนต่อผิวลูกน้อย


นอกจากดูแลที่ผิวลูกโดยตรงแล้ว ควรใส่ใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาด้วย เพราะทั้งฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ หรือขนของสัตว์เลี้ยงภายในบ้านก็อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นแพ้ได้ง่าย ควรดูดฝุ่นทำความสะอาดบ้านเป็นประจำเพื่อป้องกันการแพ้ที่เกิดจากสิ่งต่างๆ เหล่านี้

รับมือเมื่อเกิดผื่นผ้าอ้อม

ส่วนผื่นผ้าอ้อมนั้น เกิดได้ทั้งในเด็กที่ใช้ผ้าอ้อมผ้าและผ้าอ้อมสำเร็จรูปคุณแม่จึงควรพิถีพิถันกับการเลือกชนิดของผ้าที่ใช้ทำผ้าอ้อมให้ลูก ว่าทำมาจากใยผ้าชนิดใด ก่อให้เกิดการระคายเคืองจากการเสียดสีหรือไม่ การเลือกผ้าอ้อมสำเร็จรูป ก็ต้องเลือกยี่ห้อที่ได้มาตรฐานเพื่อความมั่นใจว่าจะไม่ทำให้ผิวละเอียดอ่อนของลูกระคายเคือง แต่บางครั้งการใช้ผ้าอ้อมยี่ห้อเดิมแต่เปลี่ยนขนาดก็ทำให้ผิวลูกแพ้ขึ้นมาได้ เพราะอาจทำด้วยวัสดุต่างชนิดกัน


วิธีการป้องกันและรักษาคือ ให้เปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น เวลาเด็กปัสสาวะหรืออุจจาระให้ล้างก้นด้วยน้ำสะอาด แล้วเช็ดให้แห้ง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ให้ระคายเคืองซึ่งจะนำไปสู่การเป็นแผลติดเชื้อทางผิวหนัง ทุกๆ ครั้งที่เปลี่ยนผ้าอ้อมนอกจากเช็ดก้นลูกให้สะอาดแล้ว ควรใช้ผ้าขนหนูนุ่มๆ ผืนเล็กๆ หรือฟองน้ำเช็ดที่บริเวณขาหนีบด้วย หากทำความสะอาดไม่ดีพอ เชื้อรา เชื้อแบคทีเรียจะฉวยโอกาสทำร้ายผิวลูกจนอักเสบเป็นแผลได้การทา Petroleum Jelly บริเวณก้นลูกบ่อยๆ จะช่วยให้ผื่นลดลงได้


หากลูกเป็นผื่นผ้าอ้อมให้ลองเปลี่ยนยี่ห้อของผ้าอ้อมสำเร็จรูป รวมทั้งน้ำยาซักผ้าที่ใช้ และปล่อยให้ก้นลูกปราศจากสิ่งปกคลุมด้วยการไม่ใสผ้าอ้อมบ้าง การทำเช่นนี้นอกจากช่วยให้ลูกรู้สึกสบายเนื้อสบายตัวแล้ว การที่ผิวลูกได้สัมผัสอากาศยังช่วยลดอาการอักเสบระคายเคืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นบริเวณก้นและขาหนีบของลูกได้เป็นอย่างดี

ทาครีมแบบไหนให้ได้ผล

แต่ถ้าเป็นผื่นเรื้อรังก็ควรพาไปพบแพทย์ เพราะอาจติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ซึ่งต้องใช้ต้องทายาฆ่าเชื้อ ไม่ควรซื้อยามาทาเองนะคะ เพราะยาบางชนิดมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ที่เป็นอันตรายต่อทารก สำหรับการทายารวมทั้งครีมบำรุงผิวต่างๆ คุณแม่อาจคิดว่าการทาครีมมากๆจะช่วยให้ประสิทธิภาพการดูแลผิวลูกมากขึ้นซึ่งเรื่องนี้ไม่จริงเลยค่ะทาเพียงเล็กน้อยก็เพียงพอแล้ว เพราะการทาครีมมากๆ นอกจากครีมจะดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ไม่ดีครีมส่วนที่เหลือติดผ้าอ้อมหรือกางเกงจะทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายตัวจากความเหนอะหนะแล้วยังอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคด้วย และอย่าลืมทำผิวลูกให้แห้งสนิททุกครั้งก่อนทาครีมด้วย ไม่นานผิวของลูกก็จะกลับมาเนียนนุ่มดังเดิมค่ะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก
ภาพประกอบ :ด.ช.ไอลวิน ศรีเพ็ญ