
รกลอกตัวเป็นโรคที่อาจเกิดกับใครก็ได้ในขณะตั้งครรภ์ หากลอกเพียงเล็กน้อยอาจไม่มีอันตรายใดๆ แต่หากลอกออกทั้งหมดจะทำให้เกิดการเสียเลือดมาก อาจต้องตัดมดลูก หรืออาจทำให้คุณแม่และลูกน้อยเสียชีวิต รกลอกตัวจึงนับเป็นอีกหนึ่งภัยเงียบขณะตั้งครรภ์ที่เราจะนำมาเล่าสู่กันฟังในบทความนี้
รกลอกตัวคืออะไร
รกลอกตัว คือ ภาวะที่รกลอกหลุดออกจากโพรงมดลูก ก่อนจะถึงกำหนดคลอด โดยมีทั้งการลอกตัวแบบเปิดเผย คือ มีเลือดไหลออกมาและลอกตัวแบบไม่เปิดเผย คือ เลือดขังอยู่ด้านหลังของรกไม่ไหลออกมา รกลอกตัวเพียงเล็กน้อยยังไม่มีอันตรายมาก แต่จะอันตรายอย่างที่สุดหากลอกออกมาทั้งหมด
รกลอกตัวแตกต่างจากรกเกาะต่ำอย่างไร
รกเกาะต่ำ เป็นกรณีที่รกเกาะอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ คือ เกาะใกล้กับปากช่องคลอด 2-5 เซนติเมตร รวมถึงเกาะชิด หรือเกาะคลุมปากช่องคลอด แต่รกลอกตัวนี้เกิดกับการตั้งท้องที่รกเกาะอยู่ในตำแหน่งปกติ กล่าวคือ ส่วนบนของโพรงมดลูก
นอกจากนี้โรครกเกาะต่ำสามารถวินิจฉัยได้ในสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ และจะเริ่มมีเลือดออกในช่วงไตรมาสที่ 3 เมื่อปากมดลูกเริ่มขยาย แต่รกเกาะต่ำอาจไม่มีเลือดออก หรือมีเลือดออกในช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็ได้
สาเหตุการเกิดรกลอกตัว
- คุณแม่ได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณท้องน้อย
- คุณแม่รับสารเสพติดบางชนิด เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา เสพยาเสพติด
- ปัจจัยที่เกิดจากร่างกายของคุณแม่ เช่น คุณแม่อายุเกิน 35 ปี หรือมีความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์
- ปัจจัยที่เกิดจากครรภ์ เช่น ตั้งครรภ์แฝด สายสะดือสั้น นอกจากนี้หากคุณแม่มีอาการน้ำเดิน (ถุงน้ำคร่ำแตก) ไม่ว่าจะในช่วงใดของการตั้งครรภ์ก็อาจทำให้เกิดรกลอกตัวได้
ผลกระทบต่อลูก
- สมองพิการ เมื่อรกลอก มดลูกจะบีบตัว เป็นเหตุให้ทารกขาดออกซิเจนจนสมองพิการ
- คลอดก่อนกำหนด เพราะเมื่อรกลอก มดลูกก็จะบีบตัวอย่างแรงเพื่อคลอด ไม่ว่าจะมีอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ตาม
- เสียชีวิต ทารกที่คลอดเพราะรกลอกก่อนกำหนด 100 คน จะมีทารกที่เสียชีวิต 12 คน
ผลกระทบต่อคุณแม่
- เสียเลือดมาก อาจมีภาวะซีดและช็อก
- ตกเลือดหลังคลอด บางรายไม่อาจห้ามเลือดได้ จนแพทย์ต้องพิจารณาตัดมดลูก
- อาจเสียชีวิต คุณแม่ที่เสียเลือดจนเสียชีวิตมีอัตรา 6% ของผู้ป่วยรกลอกก่อนกำหนดทั้งหมด
คุณแม่ที่รกลอกตัวก่อนกำหนดครรภ์แรกจะมีโอกาส 4-12% ที่จะกลับมาเป็นอีกในครรภ์ที่ 2 และหากเกิดภาวะดังกล่าวอีกในครั้งที่ 2 ก็จะมีโอกาสสูงถึง 25% ที่จะเกิดภาวะรกลอกก่อนกำหนดในครรภ์ที่ 3 ดังนั้นหากคุณแม่ที่เคยเป็นโรคนี้แล้ว ในการตั้งครรภ์ครั้งถัดไป ต้องแจ้งให้แพทย์ที่รับฝากครรภ์ทราบ และอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด