
เด็กๆ กับความสดใสร่าเริงเป็นของคู่กัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่อาจลืมไปว่า เด็กๆ ก็มีความเครียดได้ โดยเฉพาะในวัยอนุบาล ที่เขาเริ่มออกสู่โลกกว้างที่มีสิ่งที่ไม่เข้าใจอยู่มากมาย ยิ่งเด็กที่เข้าเรียนก่อนวัย มักยังขาดความพร้อมในการเรียนรู้ หรือยังช่วยตัวเองไม่ได้อย่างเต็มที่ทำให้เกิดความเครียดได้
หากพบว่าลูกมีความเครียดจากภาวะต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยเรื่องอะไรคุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยเหลือค่ะ ไม่ใช่แค่การช่วยลูกแก้ปัญหาเท่านั้น แต่ต้อง ฝึกลูกวัยอนุบาล ให้รู้จักรับมือกับปัญหาและความเครียดด้วยตัวเองด้วย เพราะคุณพ่อคุณแม่คงไม่สามารถดูแลลูกไปได้ตลอด การสร้างภูมิคุ้มกันทางอารมณ์จึงเป็นสิ่งจำเป็น

สัญญาณที่บอกว่าลูกกำลังเครียด
เรื่องเล็กๆ ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ อาจเป็นเรื่องใหญ่ของลูกก็ได้ หากลูกมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิม เช่น
- ไม่ร่าเริง
- ไม่ค่อยพูดคุย
- นอนหลับยาก
- ปัสสาวะรดที่นอน
- รับประทานอาหารได้น้อย
- มีอาการเจ็บป่วยก่อนไปโรงเรียน
พฤติกรรมเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณบอกว่าลูกกำลังมีปัญหาบางอย่างอยู่ในใจก็ได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือสนใจในสิ่งที่ลูกพูด ใส่ใจรายละเอียด เล็กๆ น้อยๆ ที่ลูกเล่าไม่ควรมองว่าเรื่องไร้สาระ เมื่อลูกกลับจากโรงเรียน ควรใช้เวลาพูดคุยกับเขาว่าในแต่ละวันมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อจับสังเกตว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียนหรือเปล่า
ช่วยลูกแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ทำความเข้าใจกับปัญหาว่าลูกพบกับความเครียดอะไรบ้างก็จะสามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อย่างตรงจุด เช่นเรียนไม่รู้เรื่อง ถูกเพื่อนแกล้ง กินอาหารไม่ทัน ไม่กล้าไปเข้าห้องน้ำ หรือกลัวครู
และเพราะบ้าน อาจเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งสร้างความเครียดให้เด็กได้ จึงควรสร้างบรรยากาศแห่งความสุขและความเข้าใจในบ้าน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง หรือใช้ความรุนแรงในครอบครัวนะคะ

วิธี ฝึกลูกวัยอนุบาล ให้รู้จักปัญหาและรับมือกับความเครียด
มีการศึกษาพบว่า การที่เด็กสามารถปรับตัวรับกับความเครียดในระดับเล็กน้อยได้ จะส่งผลดีต่อพัฒนาการทางอารมณ์ ในขณะที่ความเครียดรุนแรงหรือไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงพัฒนาการการเรียนรู้ต่างๆ ชองลูก คุณแม่จึงควรฝึกลูกให้รู้จักปัญหาและรับมือกับความเครียดด้วยการ
- บอกให้ลูกได้รับรู้ว่า ทุกคนต้องเคยพบปัญหาหรือเรื่องยุ่งยากใจ
- สร้างความมั่นใจให้กับเขาว่าเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
- ไม่กดดันเรื่องเรียน หรือเร่งให้ลูกทำสิ่งต่างๆ เกินวัย ไม่เปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่น
- ปล่อยให้ลูกมีเวลาเล่นหรือทำกิจกรรมตามใจชอบบ้าง
- ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะช่วงเวลารับประทานอาหารและก่อนนอน
- บอกลูกเสมอว่า เมื่อใดที่ลูกมีปัญหา คนในครอบครัวที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเขา
ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ที่เหมาะกับช่วงวัย จะช่วยให้เด็กๆ รับมือกับปัญหาและจัดการกับความเครียดได้เก่งขึ้นค่ะ
ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก