จับสังเกตความซนของลูก เด็ก IQ สูง อาจมีพฤติกรรมคล้ายสมาธิสั้น

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/จับสังเกตความซนของลูก เด็ก IQ สูง อาจมีพฤติกรรมคล้ายสมาธิสั้น
จับสังเกตความซนของลูก เด็ก IQ สูง อาจมีพฤติกรรมคล้ายสมาธิสั้น

เด็กๆ กับความซุกซนเป็นของคู่กัน ชนิดที่ว่าเวลาพูดคุยกันในหมู่แม่ๆ ทุกคนจะบอกว่าลูกซนกันแทบทุกคน วีรกรรมความซนก็มีตั้งแต่รื้อ ค้น ทำข้าวของเสียหายไปจนถึงปีนป่ายจนพลัดตกหกล้มเจ็บตัวบ่อยๆ ดูเหมือนว่าพลังในการเล่นซนของเด็กๆ มีอยู่อย่างมหาศาล ราวกับว่าพวกเขาไม่รู้จักเหนื่อย

ความซน…พัฒนาการตามวัย หรือเด็กดื้อจากการเลี้ยงดู?

อันที่จริงแล้วความซนเป็นพัฒนาการตามวัยอย่างหนึ่งของเด็ก ที่อยากจะทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่เคยเห็นพ่อแม่ หรือคนอื่นๆ ทำดูบ้างแต่ยังทำได้ไม่ดี ประกอบกับการที่กล้ามเนื้อของลูกกำลังพัฒนา เขาจึงต้องการการเคลื่อนไหวอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ลูกซน เขาจะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ถ้าคุณแม่คอยห้ามไปเสียทุกอย่าง แล้วลูกจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้อย่างไร แต่ถ้าลูกซนมากจนคุณพ่อคุณแม่เริ่มรู้สึกว่า ไม่ปกติแล้วล่ะ มาทำความรู้จักสาเหตุของความซนจากการเลี้ยงดู 2 รูปแบบกันค่ะ

  1. ความซนที่เกิดจากการเลี้ยงดูเข้มงวดเกินไป ทำให้เด็กมีปฏิกิริยาต่อต้านมักพบในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่เข้มงวด เจ้าระเบียบ คอยห้ามเวลาลูกจะทำสิ่งต่างๆ ลูกจึงหาทางออกโดยการทำสิ่งตรงข้ามกับที่คุณแม่คุณพ่อต้องการ
  2. ความซนที่เกิดจากการที่เด็กไม่ได้รับการสอนให้อยู่ในระเบียบหรือกฎข้อบังคับ ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ ซึ่งตรงกันข้ามกับข้อแรก เด็กกลุ่มนี้เมื่ออยากทำอะไรก็ทำตามใจชอบ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวเช่นไร เวลาเล่นรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ อาจแกล้งหรือแย่งของเด็กคนอื่นได้ เพราะเขาไม่รู้จริงๆ ว่าสิ่งที่กำลังทำไม่น่ารัก

ซนแบบไหนน่าสงสัยเข้าข่ายสมาธิสั้น

นอกจากความซนที่เกิดจากการเลี้ยงดูแล้วยังมีความซนอันเนื่องมาจากความผิดปกติทางสมองหรือโรคอื่นๆ ด้วย เด็กกลุ่มนี้จะซนชนิดที่ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้ เขาจะมีความสนใจต่อสิ่งต่างๆ เพียงชั่วครู่ และหงุดหงิดง่าย ชอบขว้างปาข้าวของ เมื่อเอ่ยถึงพฤติกรรมเหล่านี้ เรามักจะนึกถึงโรคสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้น ทางการแพทย์ เรียกว่า Attention Deficit Hyperactivity Disorder (ADHD) เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก มีทั้งกลุ่มอาการขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ (inattention) และอาการอยู่ไม่นิ่ง-หุนหันพลันแล่น (hyperactivity-impulsivity) มักจะเกิดก่อนอายุ 7 ปี พบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง

ในเด็กที่ซนมากๆ มักอยู่ในกลุ่มอาการอยู่ไม่นิ่ง-หุนหันพลันแล่น(hyperactivity-impulsivity) ให้คุณแม่สังเกต พฤติกรรมของเขา ถ้ามีอาการ 6 อย่าง หรือมากกว่านี้ เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนควรปรึกษาแพทย์

-อยู่ไม่ติดที่ เช่น ชอบลุกจากที่นั่งในห้องเรียน
-วิ่งไปมาหรือปีนป่ายมากเกินควร
-ไม่สามารถนั่งเล่นเล่นเงียบๆ ได้
-มักไม่อยู่เฉย เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
-พูดมากเกินไป
-ชอบพูดแทรก ตอบคำถามโดยไม่ทันฟังคำถามจนจบไม่รอให้ผู้อื่นพูดจบแล้วค่อยพูด
-ไม่รู้จักการรอคอย ไม่ยอมต่อแถวหรือเข้าคิว
-ชอบขัดจังหวะผู้อื่น เช่น รบกวนเวลาที่เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำสิ่งต่างๆ ขัดขวางการเล่นของพี่-น้อง

เด็ก IQ สูง อาจมีพฤติกรรมคล้าย สมาธิสั้น

แต่แค่แบบทดสอบยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เด็กสมาธิสั้นหรือไม่ การวินิจฉัยโรคนี้ ต้องมีการซักประวัติอย่างละเอียด โดยคุณหมอจะพูดคุยสอบถามคุณพ่อคุณแม่ ตัวเด็กเอง เกี่ยวกับลักษณะพฤติกรรมที่บ้านและในห้องเรียน การเลี้ยงดู ประวัติพัฒนาการ ผลการเรียน ในบางรายอาจการตรวจวัดระดับเชาวน์ปัญญาด้วยเนื่องจากเด็กที่มีระดับ IQ สูงมากอาจมีพฤติกรรมคล้ายเด็กสมาธิสั้นแบบกลุ่มอาการขาดสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ (inattention) ได้ โดยเด็กกลุ่มนี้มักมีความอยากรู้อยากเห็นและมีสมาธิจดจ่อเฉพาะเรื่องที่เขาสนใจเท่านั้น

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก