เรียนรู้ ภาษาทารก สร้างความเข้าใจแม่ลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการรับรู้

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/เรียนรู้ ภาษาทารก สร้างความเข้าใจแม่ลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการรับรู้
เรียนรู้ ภาษาทารก สร้างความเข้าใจแม่ลูก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการรับรู้

จะว่าไป ทารกน้อยสามารถสื่อสารกับคุณแม่ได้ตั้งแต่ตอนอยู่ในท้อง สังเกตได้จากปฏิกิริยาเวลาคุณแม่พูดคุยกับลูกและสัมผัสที่ท้อง ทารกน้อยก็จะดิ้นแทนการพูดคุยตอบโต้กับคุณแม่เสมอ เวลาเขาคลอดออกมาเขาก็ยิ่งสามารถรับรู้เสียงของคุณแม่ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

การเรียนรู้ ภาษาทารก สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะกังวลว่าเมื่อสื่อสารกับลูกแล้วไม่เข้าใจ อาจส่งผลให้ดูแลเขาไม่ดี หรือเข้าใจผิด ลูกต้องการอย่างหนึ่งแต่แม่ไปทำอีกอย่าง อาจทำให้ลูกร้องไห้โยเยได้ คุณแม่มือใหม่ไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะภาษาของลูกน้อยเข้าใจไม่ยากเลย

ทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 1 เดือน ช่วงนี้ลูกน้อยอาจจะไม่ค่อยสื่อสารอะไรมากนัก เพราะส่วนมากจะนอนหลับซะเป็นส่วนใหญ่ เวลาตื่นขึ้นมาก็เพราะหิวนม แต่ทารกก็จะเริ่มรับรู้เสียงรอบข้างแล้ว หากมีเสียงดังมากๆ ก็จะสะดุ้ง

ช่วงอายุ2-4 เดือน ช่วงนี้ลูกน้อยจะรับรู้เสียงและแยกเสียงได้แล้ว รู้ว่ามีคนมาเล่นมาพูดด้วย มีอาการตอบสนองได้เห็นได้ชัดเจน คือ การยิ้ม

ช่วงอายุ 5-6 เดือน ช่วงนี้ลูกน้อยจะเริ่มตอบสนองต่อเสียงได้ดียิ่งขึ้น และมีอาการที่แสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น สามารถส่งยิ้ม หัวเราะ ต่อเสียงที่เขารู้สึกพอใจได้

ช่วงอายุ 7เดือน – 1ปี ลูกน้อยจะเริ่มเข้าใจภาษาที่คุณแม่พูดคุยกับเขามากขึ้น เช่น คำว่า แม่ , หม่ำๆ หรือชื่อตัวเอง เพราะ เป็นคำสั้นๆ ที่มีการพูดซ้ำๆ จนเขาจำได้
ยกตัวอย่าง ทุกครั้งเวลาจะป้อนข้าว คุณแม่ก็จะพูดว่าหม่ำๆ แล้วก็ป้อนอาหารให้เขา พอได้ยินบ่อยๆ บวกกับการปฏิบัติแบบเดิมๆ คือ พอพูดว่าหม่ำ ๆ เขาก็จะได้กินข้าว พอทำแบบนี้หลายๆครั้ง พอแม่พูดว่าหม่ำๆ เขาก็จะรู้ทันทีว่าเขาจะได้กินข้าวนั่นเองค่ะ
ดังนั้น เวลาคุณแม่ต้องการสื่อสารกับลูก ควรพูดและทำควบคู่กันไป เลือกใช้คำสั้นๆ เพื่อให้เขาค่อยๆจดจำจะทำให้เขาจำได้ง่ายขึ้น

ช่วงอายุ 1-2 ปี ลูกน้อยจะสามารถเรียนรู้ได้มากขึ้น และรวดเร็วขึ้น ด้วยคำที่คุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดสื่อสารด้วย และเริ่มรู้จักอวัยวะต่างๆในร่างกาย เช่น ตา หู จมูก มือ แขน ขา ที่มองเห็นด้วยตาเพิ่มขึ้น ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ควรหมั่นสื่อสารกับลูกน้อยบ่อยๆ และเป็นคำที่ดี เพื่อให้เขาจดจำแต่คำที่ดีๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของเขาในทางที่ดีด้วย และพาเขาทำกิจกรรม หรือเล่นของเล่นๆต่างๆ พูดคุยหยอกล้อเพื่อให้เขาฝึกการรับรู้สิ่งใหม่ๆ คำใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย