
ผู้เขียนเป็นแม่ที่ไม่มีความรู้เรื่อง ลูกแพ้อาหาร เลย จนกระทั่งคลอดลูก หลังกินนมแล้วลูกของผู้เขียนจะแหวะนมทุกครั้ง ใช้คำว่า ‘ทุกครั้ง’ นะคะ
นมที่ให้รับประทานก็เป็นนมผสม คือ นมแม่บ้าง นมผงบ้าง จนกระทั่ง 2 เดือนลูกมีผื่นขึ้น ผู้เขียนจึงไปหาหมอแถวบ้าน หมอบอกว่าแพ้นมวัว และแนะนำให้กินนมนูทรามิเจน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าลูกไม่ค่อยชอบกิน กินแค่นิดเดียวแล้วก็ไม่กินอีก
ตอนนั้นผู้เขียนเริ่มเสริชหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และพบบทความหนึ่งที่คุณแม่ออกมาเขียนเล่าประสบการณ์ลูกแพ้อาหาร และได้นำลูกเข้าโครงการทดลองน้ำนมข้าว ที่ ศ. ดร. นพ. พิภพ จิรภิญโญ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย พอเสริชต่อไปอีกก็พบข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ว่า คุณหมอพิภพวิจัยน้ำนมข้าวสำเร็จ หลังจากที่คุณหมอได้คิดค้นนมเนื้อไก่สำหรับเด็กแพ้นมวัวสำเร็จมาก่อนหน้านี้
ตอนนั้นคุณหมอยังทำงานอยู่ที่ศิริราช ผู้เขียนให้น้องชายไปติดต่อสอบถามว่าคุณหมอออกตรวจคลินิกนอกเวลาไหม ปรากฏว่าวันเสาร์ – อาทิตย์คุณหมอออกตรวจที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ผู้เขียนเลยตัดสินใจพาลูกไปหาคุณหมอพิภพที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ค่ะ
พอไปถึงคุณหมอก็ตรวจอาการของน้อง คุณหมอบอกว่าการแพ้นมวัว มันไม่ใช่แพ้แค่นมวัว มันคือการแพ้อาหาร ตอนนั้นผู้เขียนคิดว่าได้กินนมไก่หรือนมข้าวแน่ค่ะ นมไก่ถุงไม่ถึงร้อย น่าจะประหยัดกว่านมผงพอตัวเลยทีเดียว แต่สิ่งที่คุณหมอถามคือ “ยังมีนมแม่อยู่ไหม”
ตอนนั้นผู้เขียนยังมีน้ำนมอยู่ ตอนแรกให้ลูกกินนมผสมแต่พอลูกแพ้นมวัวและไม่ชอบนูทรามิเจน ผู้เขียนจึงตัดสินใจเอาลูกเข้าเต้า กินนมแม่อย่างเดียว น้ำนมจึงไหลเชี่ยวกรากขึ้นเรื่อยๆ ลูกฉี่ 10 – 11 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ถือว่าน้ำนมมีมากพอ สุดท้ายลงเอยที่คุณหมอให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว อดกินนมไก่เลย!
ข้อแม้ในการกินนมแม่ ก็คือแม่ต้องงดอาหารที่มักจะทำให้ลูกแพ้ เพราะสารอาหารที่แม่กินเข้าไปจะออกทางน้ำนมค่ะ ให้งดอะไรบ้าง คือ มันเยอะแยะบานเบิกจนจำไม่ได้ จำได้แต่ที่คุณหมออนุญาตให้กินได้ มีแค่นี้ค่ะ
- เนื้อสัตว์ กินได้แต่หมู
- อาหารหลัก กินได้แต่ข้าวสวย ห้ามข้าวกล้อง เพราะเด็กหลายคนแพ้ข้าวกล้อง
- ผัก กินได้แต่ตำลึงกับผักกาดขาว
- เครื่องดื่ม ดื่มได้แต่น้ำเปล่า
- เครื่องปรุงรส ใส่ได้แต่เกลืออย่างเดียว (อันนี้โหดมาก น้ำปลา พริก พริกไทยใส่ไม่ได้ทั้งนั้น)
- ผลไม้ กินได้แค่ สาลี่ ฝรั่ง แอปเปิ้ล
คุณหมอคงเห็นผู้เขียนกลืนน้ำลายทำหน้าว่าแย่แน่ ท่านเลยพูดเสริมว่า “เห็นไหม ยังกินได้อีกตั้งหลายอย่าง”
อืม…เห็นค่ะเห็น เห็นว่าอาหารแสนกว่าอย่าง กินได้แค่ 6 อย่างพูดแล้วน้ำตาจะไหล แต่เพื่อลูก คุณแม่สามารถค่ะ
ข้อดีก็คือผอมค่ะ น้ำหนักลดไปเกือบ 10 กิโล ซึ่งผู้เขียนเป็นสาวร่างอวบระยะสุดท้าย ลด 10 กิโลนี่ไชโยโห่หอนไปสามบ้านแปดบ้าน ที่น้ำหนักลดเพราะนอกจากไขมันจะออกมาทางน้ำนมแล้ว อาหารที่ผู้เขียนกินเข้าไปก็มีแต่ของที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้พลังงานตามจำเป็น ไม่ใช่ให้พลังงานเกินแล้วเกินอีกอย่างที่ผ่านมา
อันที่จริง คุณหมอไม่ได้รักษาอาการแพ้อาหาร แบบรักษาให้หายนะคะ เพราะการแพ้อาหารนี่มีแต่เทวดาที่เสกให้หายได้ คุณหมอไม่ใช่เทวดา แต่คุณหมอจะช่วยให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพราะเด็กเล็กๆ หากรับประทานอาหารได้ไม่ครบ ก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตได้ค่ะ
เราให้นมลูกจน 4 เดือน เราเริ่มบ่นกับหมอว่าอยากดื่มอย่างอื่นนอกจากน้ำเปล่า หมอเลยอนุญาตให้ดื่มน้ำอัดลมได้บ้าง แต่อย่าเยอะ เพราะมีเด็กบางคนที่แพ้สีผสมอาหารเหมือนกัน
พอลูกอายุ 5 เดือน ก็ถึงเวลาที่คุณหมออนุญาตให้กินอาหารเสริมได้ ซึ่งตรงนี้ต้องขอบคุณคุณหมอมากๆ เพราะเราเปิดดูสารอาหารต่างๆ ในอินเตอร์เน็ตแล้ว มันเป็นเรื่องปวดหัวและสับสนอลหม่านมากถ้าจะให้ลูกได้รับสารอาหารครบถ้วน แต่เราโชคดีไม่ต้องคิดเยอะ เพราะคุณหมอจัดให้ โดยเริ่มจากให้กินข้าวตุ๋น เริ่มแค่น้อยๆ ก่อน ใช้ข้าวขาวเหมือนเดิม ห้ามข้าวกล้อง
ต่อมาก็เป็นข้าวกับตำลึงบดละเอียดและตุ๋น พอกินได้ไม่มีอะไรผิดปกติแล้ว ก็เริ่มใส่ตับลงไป สรุปคืออาหารเสริมของลูกเราจะเป็นข้าว ตำลึง และตับ ห้ามปรุงรสใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนนมก็ให้กินนมแม่เหมือนเดิม
มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ลูกของผู้เขียนน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์นิดหน่อย เพราะซนมากไป คุณหมอเลยแนะนำให้ใส่น้ำมันผสมลงในข้าว เพื่อที่ลูกจะได้ได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ ผู้เขียนได้ฟังว่าลูกซนก็แอบสติแตกกลัวลูกเป็นสมาธิสั้น คุณหมอท่านจะล่วงรู้ความในใจของผู้เขียนหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ อยู่ๆ ท่านก็ยิ้มอย่างใจดีและพูดออกมาว่า “เด็กแพ้อาหารมักจะซน ไม่รู้ทำไม แต่ลองสังเกตซิ เด็กแพ้อาหารซนทุกคนแหละ” ฟังแล้วก็ทำให้ผู้เขียนสบายใจขึ้นโขหนึ่งค่ะ
หลังจากรับประทานอาหารเสริมมาระยะหนึ่ง ช่วงใกล้ๆ 1 ขวบ คุณหมอได้ให้ลูกกินไข่ขาว จากนั้นก็ขยับมากินไข่แดง ส่วนผลไม้ก็กินเหมือนแม่ คือ แอปเปิ้ล ฝรั่ง สาลี่
เรื่องราวยังไม่จบแค่นี้นะคะ มันมีช่วงระทีก ที่ลูกเรานะต้องลองดื่มนมวัว ซึ่งมันตื่นเต้นและน่ากลัวมากสำหรับคนเป็นแม่ค่ะ
การที่ ลูกแพ้อาหาร ทำให้ผู้เขียนต้องงดอาหารหลายชนิดเพื่อให้นมลูก ผู้เขียนเคยได้ยินมาเหมือนกันว่าเด็กที่แพ้นมวัว พออายุ 1 ขวบก็จะหาย ผู้เขียนจึงตั้งหน้าตั้งตารอวันนั้น วันที่ลูกจะหายจากการแพ้อาหารและผู้เขียนจะได้รับประทานอาหารอื่นๆ ตามใจชอบบ้าง
และแล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ลูกของผู้เขียนอายุ 1 ปี แต่ก็ยังคงแพ้อาหาร ขวบสองเดือนก็แล้ว ขวบสามเดือนก็แล้ว แต่ก็ยังคงมีอาการแพ้อย่างต่อเนื่อง ที่ทราบว่าแพ้เพราะคุณหมอจะค่อยๆ ปล่อยอาหารให้แม่กินทีละอย่าง และให้นมลูกเพื่อดูว่าลูกมีอาการอย่างไร
ตรงนี้ผู้เขียนเคยได้รับคำถามจากคุณแม่ที่มีลูกแพ้อาหารและต้องงดอาหารหลายชนิดเหมือนผู้เขียน โดยคุณแม่ท่านนั้นถามว่าจำเป็นต้องเคร่งครัดกับของที่หมอบอกให้งดไหม ผู้เขียนไม่ขอตอบนะคะว่าจริงหรือไม่ แต่ขอเล่าให้ฟังว่าตอนที่ลูกของผู้เขียนอายุขวบสองเดือน ผู้เขียนไม่ทราบว่าเฟรนช์ฟรายส์เขาใส่แป้งสาลีผสมลงไปในเนื้อมันฝรั่งด้วย ผู้เขียนจึงรับประทาน เพราะตอนนั้นคุณหมอให้รับประทานมันฝรั่งได้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกถ่ายกระปิบกระปรอย แบบเดินๆ อยู่ก็ถ่ายปี๊ดออกมา นั่งๆ อยู่ก็ถ่ายปี๊ดออกมา โดยถ่ายเป็นน้ำสีเหลืองๆไม่มีเนื้อปน ผู้เขียนรีบพาลูกขึ้นกรุงเทพไปหาหมอ ถึงได้รู้ว่าเฟรนช์ฟรายส์นี่แหละเป็นสาเหตุ เลยอยากให้คุณแม่ทุกท่านระลึกเอาไว้เสมอว่าความทรมานของคุณแม่ที่ต้องงดอาหารบางชนิด ไม่เท่าความทรมานของลูกที่ต้องปวดท้อง ถ่ายตลอดเวลา หรือท้องอืดนะคะ
ทีนี้ก็มาถึงวันที่ลูกเราอายุขวบหกเดือน คุณหมอให้ทดสอบรับประทานนมวัว เป็นนมยูเอชที 1 กล่องเล็ก โดยรับประทานทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ละครั้งเว้นระยะเวลาห่างกัน ซึ่งในช่วงระหว่างคอยนี้ก็ต้องอยู่ใน รพ. ตลอด หากมีอะไรเกิดขึ้นจะได้แก้ไขได้ทัน ปรากฎว่าลูกเราทดสอบผ่าน สามารถดื่มนมวัวได้
หลังจากวันนั้น ลูกเราก็รับประทานอาหารโดยปรุงแต่ซีอิ๊วขาวเล็กน้อย รับประทานผักใบเขียว งดของทะเล รับประทานปลาทะเลได้ และดื่มนมวัว ซึ่งปกติต้องดื่มวันละ 5 กล่องแต่ลูกเราดื่มแค่ 3 กล่อง ที่เหลือยังอ้อนเข้าเต้าเหมือนเดิม ผู้เขียนเลยปล่อยให้กินนมแม่มาจนสามขวบแปดเดือน
ตอนนี้ลูกอายุใกล้ 4 ขวบแล้ว จากแพ้อาหารเปลี่ยนมาเป็นแพ้อากาศตามที่คุณหมอเคยคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ใกล้ๆ 2 ขวบ ผู้เขียนเลยให้ลูกรักษาภูมิแพ้กับคุณหมอต่อไป ส่วนเรื่องอาหารการกินตอนนี้รับประทานได้หมดทุกอย่าง งดแค่หอยกับหมึกค่ะ
ที่มาจาก สาลิกา สาลิกา อดีตนักเขียนอิสระที่มาแชร์ประสบการณ์ในการเลี้ยงลูก