5 โรคอันตรายในเด็ก ที่ชอบแพร่ระบาดในหน้าฝน

หน้าแรก/สุขภาพเด็ก/5 โรคอันตรายในเด็ก ที่ชอบแพร่ระบาดในหน้าฝน
5 โรคอันตรายในเด็ก ที่ชอบแพร่ระบาดในหน้าฝน

หน้าฝนที่มาพร้อมกับอากาศอันชื้นแฉะ เหมาะกับเชื้อโรคที่จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและแพร่ระบาดได้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคยังไม่มากพอ โอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย มาดูกันว่ามี โรคอันตรายในเด็ก ที่มาพร้อมกับหน้าฝนนี้มีอะไรบ้าง เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้บุตรหลานเป็นเหยื่อของโรคเหล่านี้

1.โรคมือเท้าปาก

สาเหตุ – จากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอไวรัสมีหลายสายพันธุ์ โดยไวรัสขนิด EV71 จัดเป็นชนิดที่มีความรุนแรงสูง
อาการ – เจ็บปาก มีแผลเล็ก ๆ หลายจุดในปากก่อน อาจมีไข้ร่วมด้วย อาเจียน ท้องเสีย เริ่มมีตุ่มน้ำใส ๆ ตามฝ่ามือฝ่าเท้า กัน หรือ ลำตัว
การป้องกัน – ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสในกลุ่มเอนเทอไวรัสและชนิด EV71 นอกจากการเตรียมตัวดูแลอย่างใกล้ชิด หากติดเชื้อเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน แต่หากติดเชื้อนี้แล้วจะมีภูมิคุ้มกันไวรัสชนิดนี้ไปได้ระยะหนึ่ง

2.โรคไข้หวัดใหญ่

สาเหตุ – ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เอ บี และ ซี
อาการ – มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อตามตัว อ่อนเพลีย คัดจมูก มีน้ำมูกไหล ไอมาก สำหรับเด็กทารกอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อรุนแรง ติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงช็อกและเสียชีวิตได้
การป้องกัน – สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวควรได้รับวัคซีนป้องกัน เพราะหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้สูง

3.โรคไข้เลือดออก

สาเหตุ – การติดเชื้อไวรัสแดงกี่ ซึ่งมีด้วยกัน 4 สายพันธุ์ ติดต่อโดยมียุงลายตัวเมียเป็นพาหะนำโรคด้วยการดูดเลือดผู้มีเชื้อไวรัสนี้แล้วไปกัดคนอื่น ๆ ต่อนั่นเอง
อาการ – มีไข้สูงเฉียบพลันราว 5-6 วัน อาจมีอาการหวัด ปวดเมื่อยเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน หากไม่ได้รับการรักษาจะอ่อนเพลียมากขึ้น ปวดท้อง ท้องอืด เบื่ออาหาร ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และ ผิวหน้า ดูแดง ๆ มีเลือดออกตามร่างกาย เช่น ไรฟัน เลือดกำเดาไหล ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเบา อาจเสี่ยงต่อการช็อกจากเลือดออกภายในและเสียชีวิตได้
การป้องกัน – กำจัดยุงลายบริเวณรอบบ้านและในบ้านให้หมด อย่าให้มีน้ำกักขังไว้ และหมั่นทำความสะอาดบ้านเรือนให้ปลอดโปร่งอยู่เสมอ

4.โรคท้องเสีย อุจจาระร่วง

สาเหตุ – ลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อไวรัสโรต้า
อาการ – ท้องเสีย อาเจียน มีไข้สูง รับประทานอาหารได้น้อย
การป้องกัน – ควรได้รับวัคซีนป้องกันชนิดรับประทาน และ ดูแลความสะอาดของเด็ก ของใช้ต่าง ๆ อยู่เสมอ

5.โรคไอพีดีและปอดบวม

สาเหตุ – ติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบประสาท
อาการ – มีไข้สูง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะรุนแรง คอแข็ง ซึมและชักได้
การป้องกัน – ควรได้รับวัคซีนป้องกัน

ดังนั้น การป้องกันดีกว่าการรักษา หันมาดูแลบุตรหลานในช่วงหน้าฝนที่โรคระบาดชุกชุม ให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่หากบุตรหลานมีอาการผิดปกติ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที