วิธีเริ่มอาหารเสริม สำหรับเด็ก 6เดือนขึ้นไป โดย ป้าหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/วิธีเริ่มอาหารเสริม สำหรับเด็ก 6เดือนขึ้นไป โดย ป้าหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
วิธีเริ่มอาหารเสริม สำหรับเด็ก 6เดือนขึ้นไป โดย ป้าหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

ให้เริ่มด้วยข้าวกล้อง (บางคนแพ้ข้าวกล้อง กินแล้วมีผื่นขึ้น หรือ ท้องผูก ก็ให้เปลี่ยนเป็นข้าวขัดขาว) หุงรวมกับถั่ว แล้ว ค่อยๆใส่ผักทีละอย่าง ใช้ซ้ำหนึ่งเมนู นาน 4-5 วัน เพื่อการตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาแพ้ อาการแพ้ คือ ผื่น ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด งอแง ส่วนผลไม้และน้ำผลไม้ ค่อยเริ่มเดือนถัดไป เพื่อให้รู้จักรสชาติของผักก่อน เพื่อไม่ให้ติดหวาน

ผักที่ใช้มีดังนี้ แครอท ไชเท้า มันเทศ มันฝรั่ง มันม่วง มันญี่ปุ่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฟักยาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วชิกพี ถั่วสปลิท ลูกเดือย ลูกบัว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง บ็อคชอย มะรุม ยอดมะระ ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน เห็ด หัวหอมใหญ่ บล็อกโครี่ กะหล่ำดอก ฟักขาว แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว อโวคาโด เมล็ดพืช ควรเลือกผักออร์แกนิกจะได้สารพิษน้อยหน่อย ควรแช่น้ำยาล้างสารพิษ เช่น เบคกิ้งโซดา หรือ น้ำเกลือ หรือ น้ำยาแช่ผัก

อโวคาโด เมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา เมล็ดแฟล็กซ์ มีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของดีเอชเอ ช่วยบำรุงสมองและสายตา

ส่วนของข้าวกล้องและถั่วจะสุกช้า จึงควรแช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชม.จึงค่อยต้มให้สุกด้วยน้ำเปล่า หรือ น้ำซุปผัก ไม่แนะนำน้ำต้มกระดูกหมู เพราะจะได้ไขมันจากสัตว์เข้าไปด้วย ห้ามปรุงรสด้วยซี่อิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะจะทำให้ลูกติดรสชาติ ไม่ดีกับสุขภาพ แต่ให้ใส่เกลือไอโอดีนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขาดสารไอโอดีน ไม่ใช่ใส่เพื่อให้มีรสชาติ เมื่อข้าวและถั่วสุกดีแล้วจึงค่อยใส่ผัก รอจนสุก ปล่อยให้เย็นแล้วตักใส่ช่องทำน้ำแข็ง เมื่อแข็งแล้วแกะใส่ถุงเก็บนม แยกเป็นแต่ละเมนู เก็บได้นาน 4 สัปดาห์ในตู้เย็นนช่องฟรีส เวลาจะใช้ แกะออกจากถุงใส่ภาชนะที่ปลอดภัยในการอุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือ อุ่นบนเตา คนให้เข้ากันดี เพราะบางจุดร้อนจัด เดี๋ยวลวกปากลูก ไม่ควรทำอาหารจากดิบเป็นสุกด้วยไมโครเวฟ สำหรับอาหารของลูก เพราะกลัวจะสุกไม่ทั่วถึง แต่ใช้เป็นการอุ่นอาหารที่สุกมาแล้วได้ค่ะ

ส่วนภาชนะ จาน ถ้วย ช้อน ถาดน้ำแข็ง ล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดขวดนมและน้ำเปล่า ไม่ต้องนึ่ง

อายุ 6-7 เดือน ให้บดอาหารให้ละเอียด โดยปั่นละเอียด หรือครูดผ่านกระชอน วันละมื้อเดียว หัดให้ลูกกินน้ำจากถ้วยหรือหลอดดูด หรือ ช้อนตักน้ำป้อนเวลากินข้าวแล้วฝืดคอ ในวันแรก เริ่มป้อนเพียง 1 ชต. แล้วตามด้วยนมแม่จนอิ่ม ค่อยๆเพิ่มวันละ 1 ชต. อย่าเพิ่มเร็ว เดี๋ยวท้องอืด แล้วร้องกวนตอนกลางคืน แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน อย่าบังคับ ให้หยุดป้อน แล้วค่อยให้ใหม่วันต่อมา จนกินได้ครบมื้อ ปริมาณ 5-8 ชต. นมมื้อนั้น จะเลื่อนการกินออกไปอีก 3-4 ชม.

วิธีเริ่มอาหารเสริม ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่าแพ้อาหารหรือไม่ ควรให้กินมื้อเช้า หรือ กลางวัน เพราะหากป้อนมื้อเย็น แล้วมีปัญหาแพ้อาหาร ลูกอาจมีอาการผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งสังเกตอาการได้ยากและต้องไปโรงพยาบาลเวลาฉุกเฉิน แต่ถ้าหากทราบว่า ไม่มีอาการแพ้ อาจเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นเวลาเย็น อาจมีประโยชน์ในแง่ อาหารทำให้อิ่มนานขึ้น ลูกอาจหลับได้ยาวขึ้น

เริ่มใส่เนื้อสัตว์เดือนที่ 7 คือ ไก่ หมู ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาคัง ปลาตะเพียน (ระวังก้าง) ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (ต้องต้มให้สุกเต็มที่ หากเป็นยางมะตูม หรือ ไข่ลวกหรือไข่ที่ตอกลงไปในโจ๊ก ซึ่งสุกไม่เต็มที่ เชื้อโรคไม่ถูกทำลาย จะทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือดได้) ปริมาณที่ใส่ต่ออาหาร 1 มื้อ คือ 1 ช้อนโต๊ะพูน ไม่ควรมากกว่านี้ เพราะไตจะทำงานหนัก บดให้ละเอียด ของใหม่ใช้ทีละอย่าง ใช้ซ้ำ 4-5 วัน เพื่อตรวจสอบอาการแพ้ ส่วนไข่ขาว และ อาหารทะเลให้เริ่มหลังจากอายุ 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย หากเริ่มเร็วเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้

เดือนที่ 7 เริ่มผลไม้ปั่นละเอียดและเติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอและไม่หวานเกินไป เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 3-4 ชต. เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก (หากกินผัก ผลไม้ สีเหลือง สีส้ม มากๆ อาจทำให้ผิวสีเหลือง ไม่อันตราย กินต่อไปได้ ถ้าหยุดกินแล้ว กว่าจะหายเหลือง จะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน) ส่วนผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี สัปปะรด มะเขือเทศ บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย

ไม่แนะนำให้ขนมทุกชนิดใน 2 ขวบแรก แม้แต่ขนมปัง หรือ ที่เขาว่าเป็นขนมสำหรับเด็กฝึกถือกินเองก็ตาม เพราะจะทำให้ลูกติดใจรสชาติ ไม่ชอบกินข้าว ฟันผุ เป็นโรคอ้วน และขนมปังก็มีสารอาหารน้อยกว่าข้าว จึงไม่ควรให้รู้จัก ถ้าลูกเป็นเด็กมีปัญหากินข้าวยาก นอกจากนี้ขนมปังเป็นอาหารแปรรูป มีการปรุงแต่งใส่รสชาติ สารกันบูด นมเนยชีส และตัวแป้งสาลีก็ถือเป็นอาหารก่อภูมิแพ้

เดือนที่ 8 – 9 ให้เพิ่มข้าวเป็น สองมื้อ เริ่มป้อนอาหารเนื้อหยาบขึ้น คือ ไม่บดละเอียด แต่ตุ๋นให้นุ่ม เวลาป้อนให้ใช้หลังช้อนบด แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่

มื้อที่สาม ให้เริ่มเมื่ออายุ 11-12 เดือน และเริ่มทำอาหารแบบไม่ต้องตุ๋น เพียงแค่ต้ม แล้วดูว่าลูกกินได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มกินข้าวสวย และข้าวเหนียวได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เริ่มปรุงรสอ่อนๆได้ แต่ต้องดูด้วยว่า ไม่มีปัญหาท้องผูก หรือ ถ่ายออกมาเป็นอาหารไม่ย่อย เนื่องจากการกินอาหารที่หยาบมากขึ้น

เวลาเดินทาง แนะนำให้ใช้อาหารสำเร็จรูปบรรจุในกระปุกแก้ว ที่เปิดฝาแล้วตักกินได้เลย เลือกชนิดที่ไม่เติมน้ำตาล สารกันบูด และนมผง แต่ถ้าอยู่บ้าน แนะนำให้กินอาหารทำเองแช่แข็ง จะมีคุณค่ามากกว่าอาหารสำเร็จรูป ไม่แนะนำอาหารที่เป็นผงชนิดก่อนใช้ให้ผสมน้ำบางยี่ห้อ เนื่องจากมีน้ำตาลและนมผงผสมอยู่ และอาหารที่เป็นผง จัดว่าเป็นอาหารที่มีการดัดแปลงมากเกินไป เนื่องจากผ่านกระบวนการความร้อนที่ทำให้เป็นผง จึงเหลือคุณประโยชน์น้อยลง

ควรฝึกให้ลูกได้ตักอาหารกินเอง ตั้งแต่อายุ 9 เดือน ไม่ต้องกลัวเลอะเทอะ โดยให้นั่งเก้าอี้ (high chair) และมานั่งกินพร้อมผู้ใหญ่ จะได้เลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่ ไม่ควรกินข้าวพร้อมกับเล่นของเล่น หรือ ดูทีวี หรือ เดินตามป้อนหน้าบ้าน เพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัย ไม่มีสมาธิกับการกินข้าว อมข้าว และใช้เวลานานเกินไป

ตำราทำอาหารบางสูตร แนะนำให้ใส่เนย มาการีน ชีส หรือ นมวัว หรือ นมผง ลงไปในอาหาร แต่ป้าหมอไม่แนะนำ เนื่องจากทำมาจากนมวัว ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้

ส่วนกรณีที่ต้องการเอานมแม่ที่สะสมไว้มาประกอบอาหาร อาจมีที่ใช้ใน 2 กรณี คือ หนึ่ง ลูกไม่ยอมกินนมที่สะสมไว้ หรือ สอง ลูกไม่ยอมกินอาหาร ดังนั้นการเอานมแม่มาผสมกับอาหาร อาจทำให้ยอมรับสิ่งที่ไม่ยอมกินได้ง่ายขึ้น แต่หากลูกยอมกินนมที่สะสมอยู่แล้ว และยอมกินข้าวดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องละลายนมเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร ให้ยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่หากลูกมีปัญหาดังกล่าว วิธีเอานมแม่แช่แข็งมาใช้ประกอบอาหารคาว ให้ทำอาหารให้ข้นกว่าปกติ หลังจากที่อุ่นอาหารพร้อมจะกินแล้ว ให้ละลายนมแม่มาราดบนอาหาร เพื่อให้ได้อาหารที่มีความเข้มข้นเหมาะสม จะไม่เอานมแม่ไปต้มกับอาหารตั้งแต่ต้น เพราะจะเสียคุณค่าและมีกลิ่นเหม็น หากต้องการนำนมแม่แช่แข็งมาทำเป็นอาหารหวาน คือ เอาก้อนนมแม่แข็งมาปั่นกับผลไม้ที่ต้องการ แล้วตักป้อนให้กินเป็นไอศกรีมผลไม้

ที่มาจากเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ