ลูกกินยาก เพราะ เคี้ยวไม่เป็น!!!

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/ลูกกินยาก เพราะ เคี้ยวไม่เป็น!!!
ลูกกินยาก เพราะ เคี้ยวไม่เป็น!!!

ในวัย 1 ขวบที่ลูกควรได้รับประทานอาหาร 3 มื้อ เป็นอาหารหลักแทนนม ปัญหาที่คุณแม่หลายๆ บ้านพบเจอก็คือเรื่อง ลูกกินยาก ซึ่งก็มีหลายสาเหตุ เช่น กำลังสนุกกับการเล่น,ได้กินนมหรือขนมจนอิ่มทำให้ไม่อยากอาหาร,ไม่ชอบอาหารที่คุณแม่จัดเตรียมให้ โดยเด็กที่เลือกกินแต่อาหารที่ชอบ มักจะเป็นเด็กที่ไวในเรื่องการรับรส เขาจึงชอบอาหารที่มีรสชาติมากกว่าอาหารจืดๆ อย่างอาหารเด็กทั่วไป ซึ่งก็ไม่แปลกเพราะคุณแม่เองก็มีอาหารที่ชอบและไม่ชอบอยู่เหมือนกันใช่มั้ยคะ แต่มีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกกินยาก ที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึง นั่นก็คือ การที่เขาเคี้ยวอาหารไม่เป็น ทำให้การรับประทานอาหารเป็นเรื่องยากสำหรับเขา

เคี้ยวอาหาร ทักษะที่ต้องฝึกฝน

คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่าการเคี้ยวอาหารเป็นสิ่งที่เด็กๆ น่าจะทำได้เองอย่างคล่องแคล่วตามธรรมชาติเหมือนการดูดนม แต่ความจริงแล้วการเคี้ยว มีขั้นตอนพัฒนาการที่ต้องผ่านการฝึกฝน ตั้งแต่ตอนที่เขาเริ่มรับประทานอาหารเสริมมื้อแรกเลยล่ะค่ะโดยเริ่มแรกที่เขารับประทานอาหารอย่างกล้วยครูดหรือข้าวบด ทารกจะรู้จักกลืนอาหารโดยใช้ลิ้นเคลื่อนไหวไปด้านหน้าและด้านหลังในขณะที่ปิดปาก ซึ่งการปิดปากขณะกลืนนี้แตกต่างจากการดูดนมอย่างสิ้นเชิง

ต่อมาเขาจะเริ่มรู้จักใช้ลิ้นบดอาหารกับเพดานปากก่อนที่จะกลืนอาหารลงไป และพอใช้ลิ้นบดอาหารกับเพดานปากได้เก่งแล้ว เขาจะเริ่มรู้จักการเคี้ยวด้วยการใช้ลิ้นดันอาหารเข้าไปยังเหงือกด้านในแล้วใช้เหงือกบดอาหาร การเคี้ยวโดยใช้เหงือกนี่ล่ะค่ะที่เป็นพื้นฐานของการใช้ฟันในการบดเคี้ยวอาหารเมื่อเขาเติบโตขึ้น

ผลไม้ตัวช่วยฝึกเคี้ยว

ตามปกติโครงสร้างพื้นฐานของอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการเคี้ยวของทารก ทั้งริมฝีปาก ลิ้น เหงือกและฟันจะค่อยๆ พัฒนาในช่วงที่เด็กอายุได้ 7-12 เดือน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทารกจะเรียนรู้เรื่องการเคี้ยวอาหารได้ดี คุณแม่ควรให้ลูกได้ลองรับประทานอาหารที่มีความแข็ง นุ่มแตกต่างกันหลายๆ ชนิด
และเพื่อให้ลูกได้มีพัฒนาการด้านการเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพลองให้เขาได้รับประทานผลไม้ที่แข็งเล็กน้อย อย่างชมพู่หรือแอปเปิ้ลดูสิคะ แค่นำมาหั่นให้เขาถือกัดเล่น ลูกจะสนุกกับการเคี้ยวแล้วล่ะค่ะการทำเช่นนี้นอกจากได้ฝึกเคี้ยวแล้ว ยังเป็นการฝึกให้เขารับประทานผลไม้ด้วย

อย่าเร่งให้ลูกเคี้ยวเป็น

เราสามารถรู้ได้ว่าเจ้าตัวเล็กมีพัฒนาการด้านการเคี้ยวที่สมบูรณ์แบบหรือยังได้ด้วยการสังเกตริมฝีปากของเขาหากเวลาเคี้ยวอาหารริมฝีปากของลูกโค้ง มุมปากถูกดึงไปด้านข้างพร้อมๆ กับแก้มพองออก ลักษณะอย่างนี้แหละที่แสดงว่าเขาสามารถจัดการกับอาหารในปากได้เป็นอย่างดี และพร้อมที่จะเคี้ยวอาหารที่แข็งขึ้นอีกเล็กน้อยได้แล้ว ที่ให้คุณแม่สังเกตเช่นนี้ก่อน เพราะหากคุณแม่ป้อนอาหารที่แข็งเกินความสามารถในการเคี้ยวให้เขา จะส่งผลให้พัฒนาการด้านการเคี้ยวของลูกถดถอยลงจนกลายเป็นเด็กกินยากเพราะไม่อยากเคี้ยวได้

สนุกกับอาหารหลากหลาย

แต่ถ้าเจ้าตัวเล็กรู้จักการเคี้ยวดีพอแล้วก็ได้เวลาที่จะให้เขาได้ทดลองรับประทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ถึงลักษณะของอาหารที่ต่างกัน โดยเฉพาะในเรื่องความเหนียวที่มากน้อยไม่เท่ากัน จะช่วยให้เขารู้จักพัฒนาความสามารถในการควบคุมการเคี้ยวและการกลืนให้สัมพันธ์กันได้ ควรให้เขาได้รับประทานข้าวกับกับข้าวบ้าง ไม่ใช่ให้รับประทานแต่ข้าวตุ๋น ที่ใส่ทั้งหมู ตับ ผัก รวมๆ กันอยู่ทุกมื้อไป เขาจะได้เรียนรู้ว่าการเคี้ยวอาหารแต่ละอย่างแตกต่างกัน เช่น เวลากินไข่ตุ๋นเขาไม่ต้องเคี้ยวนาน แต่เวลากินเนื้อสัตว์ต้องใช้เวลาเคี้ยวนานและต้องออกแรงเคี้ยวมากกว่าแต่ไม่ว่าจะให้เขารับประทานอะไรข้อสำคัญอยู่ที่การปรุง ต้องสะอาด และรสชาติที่ไม่จัดเกินไป

กว่าที่ลูกจะเคี้ยวอาหารได้เก่งอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย คุณแม่ต้องใจเย็นสักนิด แต่รับรองว่าเมื่อเขาเคี้ยวได้เก่งแล้ว ความวุ่นวายจากการที่ลูกไม่ยอมรับประทานอาหารจะลดลงอย่างแน่นอน


ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก คอลัมนิสต์นิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ภาพประกอบ : น้องปัณณ์-ด.ช.ปัณณ์ปีติ ชวรุ่ง