โรคหัดเยอรมัน โรคอันตรายในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/โรคหัดเยอรมัน โรคอันตรายในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้
โรคหัดเยอรมัน โรคอันตรายในหญิงตั้งครรภ์ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้

โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ เกิดจากไวรัสชื่อว่า รูเบลลา ( Rubella ) เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ของผู้ป่าวย ติดต่อได้โดยการไอ จาม หายใจรดกัน เช่นเดียวกับโรคหวัดหรือโรคหัด

อาการของโรคหัดเยอรมัน
มีไข้ต่ำๆ ถึงปานกลาง ร่วมกับเป็นผื่นเล็กๆ สีชมพูอ่อนๆ กระจายไปทั่ว ผื่นมักจะแยกกันอยุ่ชัดเจน เริ่มที่หน้าผากชายผม รอบปาก และใบหูก่อนที่อื่น แล้วลงมาที่ลำคอ ลำตัว แขนขา อาจมีอาการคัน ผื่นมักขึ้นวันเดียวกับที่มีไข้ และมักจะหายได้เองภายใน 3-6 วัน โดยทั่วไปจะจางหายอย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งรอยดำให้เห็น บางรายอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ก็ได้ บางรายอาจมีอาการแสบเคืองตา เจ็บคอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัวแต่ไม่มากนัก อาการทั่วไปมักไม่ค่อยรุนแรง บางรายอาจติดเชื้อหัดเยอรมันและไม่มีอาการก็ได้

ตรวจพบไข้ 37.5-38.5 องศาเซลเซียส มีผื่นแดงเล็กน้อย กระจายอยู่ทั่วตัว ตาแดงเล็กน้อย ที่สำคัญซึ่งบ่งชี้โรคนี้ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต (คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำ) ตรงหลังหู หลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง2ข้าง อาการแทรกซ้อน อาจทำให้ข้อนิ้วมือ และนิ้วเท้าอักเสบเล็กน้อย อาจพบสมองอักเสบ

อันตรายของโรคนี้คือ ถ้าหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกแล้วเป็นโรคนี้ อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้  ซึ่งโอกาสที่ทารกพิการมีถึงร้อยละ 10-50 ภายในเดือนที่ 2 พบได้ร้อยละ 14-25 ภายในเดือนที่ 3 และหลังเดือนที่ 3 พบได้ ร้อยละ 0-5 อาการที่พบในทารกที่คลอดออกมา มีอาการ ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ ที่พบบ่อย เช่น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบ (ดีซ่าน) สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน ซึ่งความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกัน หรือเพียงอย่างเดียวก็ได้

การรักษา โรคหัดเยอรมัน ถ้าพบในเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ ให้รักษาตามอาการ เช่นให้ยาลดไข้ ในรายที่มีอาการคันให้ยาทาแก้ผื่นคัน คาลาไมน์โลชั่น ทาบริเวณที่คัน วันละ 2-3 ครั้ง ถ้าพบในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก แนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือดพิสูจน์ถ้าเป็นจริง อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์

การป้องกัน โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ครั้งแรกในตอนอายุ 9-12 เดือน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ให้นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ในโรงเรียน

ข้อมูลโดย กลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายและการสื่อสารสาธารณะ สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค