เติมเต็ม พัฒนาการด้านความรัก ให้เบบี๋ด้วยตุ๊กตา

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/เติมเต็ม พัฒนาการด้านความรัก ให้เบบี๋ด้วยตุ๊กตา
เติมเต็ม พัฒนาการด้านความรัก ให้เบบี๋ด้วยตุ๊กตา

พูดถึงของเล่นชิ้นโปรดของเด็กๆ “ตุ๊กตา” มักเป็นสิ่งแรกๆ ที่เรานึกถึง เด็กๆ เกือบทุกคนจะมีตุ๊กตาโปรดที่เขานำติดตัวไปทุกที่ แม้ยามหลับก็ต้องกอดไว้ ซึ่งของเล่นแสนธรรมดาอย่างตุ๊กตานี่ล่ะค่ะที่เติมเต็มพัฒนาการด้านความรักให้ลูกได้
ในเดือนแห่งความรักนี้ เรามาทำความรู้จักพัฒนาการด้านความรักของเด็กๆ กันค่ะ

พัฒนาการด้านความรักของเบบี๋

พัฒนาการด้านความรักของเด็ก จะเกิดจากความผูกพันที่เขามีกับคุณพ่อคุณแม่และคนอื่นๆ รอบตัวที่คอยดูแลเขา เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารักคนรอบข้าง และเรียนรู้ที่จะมอบความรักให้กับผู้อื่นหรือสิ่งของ ซึ่ง “ตุ๊กตา” มักเป็นสิ่งของชิ้นแรกๆ ที่เด็กๆ มอบความรักให้ โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตกล่าวถึงพัฒนาการด้านความรักว่า “เด็กเล็กๆ ถ้ารักใครจะแสดงออกมาให้เห็นโดยการกอดรัด อยากอยู่ใกล้กับคนหรือสิ่งของที่ตนรักตลอดเวลา นอกจากนี้เด็กยังเต็มใจที่จะช่วยงานของคนที่ตนรัก ทำงานเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่จะทำได้ เมื่อเข้าโรงเรียนก็จะชอบอยู่ใกล้คนที่เด็กรักอย่างคุณครู และรู้จักทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ ดังนั้น การเป็นผู้ที่มีความรักที่ดีและเหมาะสมจึงเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการทางจิตใจอย่างมากมาย”

ตุ๊กตา…จุดเริ่มต้นของความรัก

ความผูกพันของเด็กๆ กับตุ๊กตา เริ่มมาจากการที่ตุ๊กตาเป็นของเล่นชิ้นแรกๆ ที่พวกเขารู้จักนับแต่แรกเกิด ซึ่งการนำเอาตุ๊กตาวางไว้ใกล้ๆ ที่นอนของลูกจะทำให้เขารู้สึกอบอุ่นใจยามเข้านอนและตื่นขึ้นมาพบกับสิ่งที่คุ้นเคย เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว ตุ๊กตาก็เปรียบเสมือนตัวแทนยามที่คุณแม่ไม่อยู่ และตุ๊กตานี่ล่ะค่ะที่เป็นของเล่นชิ้นแรกที่ช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะมอบความรักความห่วงใยให้กับผู้อื่น

เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือและปกป้องผู้อื่น

การที่เด็กๆ เริ่มรู้จักเล่นเลียนแบบคุณแม่อย่างป้อนข้าว แต่งตัวให้ตุ๊กตา แม้ตุ๊กตานั้นจะไม่ใช่ตุ๊กตารูปเด็ก นับเป็นพัฒนาการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาคอยสังเกต จดจำ และทำตามอย่างสิ่งรอบตัวที่ได้เห็นอยู่ตลอดเวลา การเล่นกับตุ๊กตาโดยเลียนแบบกริยาท่าทางเวลาที่คุณแม่ดูแลเขา ไม่ว่าจะอุ้มเดิน ป้อนข้าว หวีผมหรือแต่งตัว ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้อื่น อันเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การปรับตัวเข้าสังคมเมื่อเติบโตขึ้นได้เป็นอย่างดี

แม้แต่การเล่นของตุ๊กตาในแบบของเด็กผู้ชายอย่างหุ่นยนต์ที่อาจดูรุนแรง แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่า เวลาเล่นเขาจะเลือกที่จะสวมบทบาทซูเปอร์ฮีโร่ที่คอยขจัดเหล่าร้าย ปกป้องคนที่ถูกรังแก ดังนั้น การรู้จักช่วยเหลือและปกป้องผู้อื่นจึงเกิดขึ้นระหว่างการเล่นตุ๊กตาได้

เลือกตุ๊กตาให้เหมาะกับวัย

อย่างไรก็ตามการเลือกตุ๊กตาต้องเหมาะกับวัยของลูกด้วยนะคะ

วัยแรกเกิด-6 เดือน ตุ๊กตาที่บีบแล้วมีเสียง ตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ ลูกบอลผ้านิ่มๆ ที่เขาสามารถบีบ จับ ขยำได้

วัย 7-12 เดือน ตุ๊กตาผ้านุ่มๆ หรือตุ๊กตาสัตว์ขนปุย ขนาดเหมาะกับการกอด

วัย 1-2 ปี ตุ๊กตารูปสัตว์ ตุ๊กตาที่ทำรูปร่างเลียนแบบเด็ก พร้อมของประกอบการเล่นอย่างบ้านตุ๊กตา โต๊ะ เก้าอี้ เตียง เครื่องครัว

วัย 2 ปี ตุ๊กตาตัวโตๆ อุ้มเดินไปไหนมาไหนได้สะดวก เด็กวัยนี้มักเล่นกับตุ๊กตาโดยเลียนแบบ ท่าทางเวลาที่คุณแม่ดูแลเขา

วัย 3-6 ปี ตุ๊กตามีรูปร่างหน้าตาคล้ายคนจริงๆ อย่างตุ๊กตาที่ทำเลียนแบบเด็ก ตุ๊กตาบาร์บี้ หุ่นยนต์ ซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ

แม้ลูกจะมีตุ๊กตามากมาย แต่ก็มักจะมีตุ๊กตาตัวหนึ่งที่เป็นตุ๊กตาตัวโปรดของเขา ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญกับตุ๊กตาตัวนี้ให้มาก ต้องระวังอย่าให้ตุ๊กตาตัวโปรดของลูกหายนะคะ เพราะเขาเรียนรู้ที่จะรักแล้วแต่ยังไม่พร้อมเผชิญการพลัดพรากค่ะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก คอลัมนิสต์นิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ภาพประกอบ : ด.ช.เดชาธร-ด.ญ.ณภัทร์วรัญญ์ วงศ์คำสุย