2 ขวบ วายร้ายวัยน่ารัก วิธีสยบลูกรัก ในช่วงวัยที่ดื้อที่สุดด้วยความเข้าใจ

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/2 ขวบ วายร้ายวัยน่ารัก วิธีสยบลูกรัก ในช่วงวัยที่ดื้อที่สุดด้วยความเข้าใจ
2 ขวบ วายร้ายวัยน่ารัก วิธีสยบลูกรัก ในช่วงวัยที่ดื้อที่สุดด้วยความเข้าใจ

ความจริงแล้ววัย 2-3 ขวบนี้เป็นช่วงที่เด็กๆ ดูน่ารักที่สุดช่วงหนึ่ง เขาทั้งช่างพูดช่างคุย เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ และมีความสามารถใหม่ๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นใจได้ทุกวัน แต่เวลาดื้อก็ดื้อสุดๆ จนถึงกับมีศัพท์เรียกเด็กวัยนี้ว่า “Terrible Two” หรือ “วายร้าย 2 ขวบ” กันเลย

เหตุผลของเจ้าตัวร้าย

คุณแม่อาจสงสัยว่าทำไมถึงมีศัพท์เรียกวัยนี้ว่า Terrible Two ทั้งที่วัยอื่นๆ เด็กก็ดื้อเป็นวายร้ายตัวน้อยได้เหมือนกัน สาเหตุที่ลูกวัยนี้ดื้อเป็นพิเศษนั่นเป็นเพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่พวกเขากำลังเติบโตจากทารกเข้าสู่ความเป็นเด็ก เขาเริ่มมีความคิดเพิ่มมากขึ้น ต้องการความเป็นอิสระและไม่ชอบให้ใครมาบังคับ เขาอยากทำทุกๆ อย่างด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีคนช่วย แต่หลายๆ อย่างก็ยังทำไม่ได้ดังใจคิดจึงหงุดหงิดง่าย และการทำอะไรตรงข้ามกับที่พ่อแม่บอกนั้น ก็ทำให้เขารู้สึกว่าเขาโตแล้ว เขาจึงมักปฏิเสธว่า “ไม่” กับหลายๆ อย่างที่คุณแม่บอกให้ทำ แม้กับสิ่งที่เขาต้องการหรืออยากได้บางครั้งเขาก็ยังบอกว่า “ไม่” ลูกวัยนี้จึงดูดื้อ เอาแต่ใจอยู่สักหน่อย

มุมสงบสยบวายร้าย

นอกจากความคิดที่มากขึ้น ลูกวัยนี้ยังใช้ร่างกายได้เก่งขึ้น เขาเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วแถมยังมีพลังงานเหลือเฟือ ทำให้บางครั้งแสดงอาการเอาแต่ใจตัวเองออกมาในรูปแบบของการขว้างปาสิ่งของ หรือร้องดิ้นอาละวาด คุณแม่จะต้องใช้ความใจเย็นมากทีเดียว ไม่ควรลงโทษลูกด้วยการตีในขณะที่เขากำลังอาละวาดอยู่ เพราะจะเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวของลูกให้มากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่ควรตามใจนะคะ

การสร้างมุมสงบแยกให้ลูกไปอยู่คนเดียวเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลมากในเด็ก 2 ขวบ โดยเมื่อลูกดื้อให้แยกเขาไปอยู่คนเดียวในห้องหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านที่ไม่เป็นอันตราย แล้วกำหนดเวลาให้เขาอยู่คนเดียวสักพัก เช่น 1 นาที ต่ออายุ 1 ขวบ 2 ขวบก็ใช้เวลา 2 นาที ครั้งแรกๆ ลูกอาจยิ่งเกเรอาละวาดอยู่ในห้องนั้น แต่ครั้งต่อๆ มาเขาจะเรียนรู้ว่า การอาละวาดไม่ช่วยให้เขาได้สิ่งที่ต้องการ

เมื่อหนูเก่งขึ้นก็จะเลิกดื้อ

อย่างที่บอกค่ะว่า วายร้ายตัวน้อยนี้อยากทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเองแต่ก็มักจะทำไม่สำเร็จ หรือไม่ก็ถูกห้ามอยู่เสมอ ทำให้เขาหงุดหงิด ดังนั้น หากเขาทำสิ่งต่างๆ ได้เก่งขึ้นความมั่นคงทางอารมณ์ก็จะเพิ่มขึ้นตามมา การฝึกให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเองง่ายๆ อย่างการกลัดกระดุม ใส่รองเท้า ตักข้าวกินเองนอกจากจะช่วยให้เขาภาคภูมิใจว่าเขาเองก็ทำสิ่งต่างๆ ได้แล้ว ยังเป็นการฝึกทักษะการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อและสายตา ช่วยให้เด็กใช้มือได้คล่อง รู้จักการสังเกตและแก้ปัญหา เช่น จะสวมรองเท้าอย่างไรให้ถูกข้าง ควรใช้ช้อนหรือส้อมกับอาหารประเภทใด หรือให้เขาช่วยงานคุณแม่เล็กๆ น้อยๆ อย่างการเก็บของเล่นใส่กล่องเมื่อเล่นเสร็จ ช่วยหยิบเสื้อผ้าใส่เครื่องซักผ้า เขาจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีความพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้เก่งขึ้น

สอนให้ลูกรู้ว่าสิ่งไหนไม่น่ารัก

บางครั้งเจ้าตัวเล็กอาจยังไม่รู้ว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วไม่น่ารัก หากเขาทำตัวไม่น่ารัก เช่น แย่งของเล่นของพี่ อันนี้เนื่องมาจากเด็กวัยนี้ยังไม่รู้ว่าของบางอย่างไม่ใช่ของเขา เขารู้เพียงแค่ว่าเขาอยากได้ ก็จะเอามา คุณพ่อคุณแม่ควรอธิบายว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นไม่ดี โดยใช้คำพูดสั้นๆ ง่ายๆ ไม่อธิบายยืดยาวเกินไป เช่น “นี่ของพี่นะ คืนเขาไป” เมื่อเขาคืนควรชมด้วยว่าเก่ง เด็กๆ มักต้องการการยอมรับว่าเขาโตขึ้นแล้วและต้องการคำชมเมื่อเขาทำดี ดังนั้น การชื่นชมเมื่อเขาทำดีจะช่วยกระตุ้นให้เขาเป็นเด็กดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก คอลัมนิสต์นิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ภาพประกอบ : น้องเกรซ-ด.ญ.ภิญญาพัชญ์ รัศมีแสงเพชร