พัฒนาการเด็กเรื่อง เสริม PQ ให้ลูกในขวบปีแรก

หน้าแรก/พัฒนาการเด็ก/พัฒนาการเด็กเรื่อง เสริม PQ ให้ลูกในขวบปีแรก
พัฒนาการเด็กเรื่อง เสริม PQ ให้ลูกในขวบปีแรก

เสริม PQ ให้ลูกในขวบปีแรก

คุณพ่อคุณแม่คงคุ้นเคยกับคำว่า IQ (Intelligent Quotient) ความฉลาดทางด้านสติปัญญา และ EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางด้านอารมณ์ แต่ปัจจุบันมีอีกหลายๆ Q ที่น่าสนใจและควรส่งเสริมให้ลูก โดย Q หนึ่งที่น่าสนใจคือ PQ (Play Quotient) หรือความฉลาดที่เกิดจากการเล่น

การเล่นกับลูกเพื่อเพิ่ม PQ

การเล่นสามารถเพิ่มพัฒนาการของเด็กได้หลายทาง ทั้งเสริมจินตนาการความคิดสร้างสรรค์ เสริมพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาดทั้งทางอารมณ์และสังคม ‘การเล่น’ และ ‘ของเล่น’ จึงเป็นส่วนสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและสติปัญญาให้แก่ลูก

การเสริม PQ ให้ลูก ไม่ยากค่ะ เพราะเด็กกับการเล่นเป็นของคู่กัน แต่ไม่ใช่ปล่อยให้เขาเล่นตามลำพังนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องเล่นกับเขาด้วย การเล่นร่วมกันนอกจากจะเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีแล้ว ยังทำให้ลูกได้ทั้งความสนุกความสุข ทั้งยังช่วยสร้างสายใยความผูกพันระหว่างครอบครัวได้ด้วย การเล่นกับลูกเพื่อเพิ่ม PQ ไม่ได้หมายความว่าต้องซื้อของเล่นแพงๆ ให้ลูก การเล่นที่สนุกๆ ง่ายๆ เช่น ขี่คอ เล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนหา ก็สามารถสร้างความฉลาดที่เกิดจากการเล่นให้ลูกได้ค่ะ

การเล่นของเด็กแต่ละเดือน

คุณแม่สามารถช่วยลูกให้เก่งขึ้นได้ด้วยการเล่น แต่ในช่วงขวบปีแรก ลูกจะมีพัฒนาการเร็วมากชนิดเดือนต่อเดือนเลยทีเดียว การเลือกว่าจะเล่นอะไรกับลูกจึงต้องสอดคล้องกับการเติบโตในแต่ละเดือนของเขาด้วย

– 1 เดือน เขย่าของเล่นที่มีเสียงให้ลูกมองตามในระยะ 30 เซนติเมตร เคลื่อนของเล่นไปมาช้าๆ
– 2 เดือน ใช้กล่องดนตรีเพื่อเสริมพัฒนาการด้านการได้ยิน
– 3 เดือน ให้ลูกได้ถือของเล่นที่เขย่าหรือบีบแล้วมีเสียง
– 4 เดือน นำของเล่นสีสันสดใสวางให้ลูกเอื้อมมือไขว่คว้าในขณะพลิกคว่ำ

– 5 เดือน เปิดโอกาสให้ลูกใช้มือสัมผัสสิ่งของมากๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ความแตกต่างของผิวสัมผัสหลากชนิดทั้งนุ่ม แข็ง
– 6 เดือน การเล่นจ๊ะเอ๋จะสร้างรอยยิ้มและความสนุกตื่นเต้นให้ลูกได้
– 7 เดือน ลูกจะสนุกกับการใช้มือสัมผัสถูไปมาบนพื้น ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้มือสัมผัสพื้นผิวที่แตกต่างกัน อย่างพื้นหญ้า พรม ขนของสัตว์เลี้ยง
– 8 เดือน วัยนี้ลูกเริ่มใช้นิ้วชี้สิ่งที่อยากได้ ควรฝึกให้เขาได้ใช้นิ้วขีดไปตามพื้น หรือขอบจาน ให้เขาได้เล่นของเล่นที่มีรูปทรงต่างๆ ทั้งทรงกลม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยม
– 9 เดือน อุ้มลูกเล่นที่หน้ากระจก เขาจะชอบดูและเล่นกับเงาสะท้อนของตัวเอง เสริมทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็กด้วยการให้เขาเริ่มจับสีเทียนขีดเล่นบนกระดาษ

– 10 เดือน ลูกจะสนุกกับการโยนของลงกับพื้น คุณแม่เล่นกับเขาได้ด้วยการส่งของคืนให้เขา ซึ่งเขาก็จะทิ้งของนั้นลงพื้นอีก
– 11 เดือน ยังคงสนุกกับการโยนของ ชอบทำของเล่นกระจายเกลื่อนกลาด ของเล่นหยิบหยอดเป็นอีกสิ่งที่ช่วยฝึกสายตาให้ประสานกับมือได้ แต่บางครั้งเขาก็สนุกกับการเทของเล่นออกมาจากกล่องมากกว่า
– 12 เดือน ถ้าเขาเดินเก่งแล้ว เขาจะชอบถือของเล่นหรือตุ๊กตาตัวโปรดเดินไปมา สำหรับคนที่ยังเดินไม่เก่ง ลองหารถลากที่มีที่เกาะ ให้ลูกได้เกาะเดินตามสิคะ เขาจะสนุกกับการฝึกเดิน แต่ต้องระวังอย่าให้ลูกเกาะเดินเองตามลำพัง ไม่ช้าลูกจะเดินได้คล่อง

มอบของเล่นที่ดีที่สุดให้กับลูก

ถึงลูกจะมีทักษะในการเล่นของเล่นเก่งแค่ไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมี PQ หรือความฉลาดที่เกิดจากการเล่นที่ดี ถ้าไม่มีคุณแม่เล่นด้วยของเล่นต่างๆ ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะสำหรับลูกวัยขวบปีแรกนี้ ของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูกก็คือตัวคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ ระหว่างที่เล่น พูดคุย หัวเราะอยู่กับลูก ทุกช่วงเวลาล้วนมีความหมาย เพราะคุณกำลังให้โอกาสเขาในการพัฒนาการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ และเป็นสุข เด็กๆ ที่ ได้มีช่วงเวลาดีๆ กับคุณแม่จะเติบโตอย่างอบอุ่น และมั่นใจ ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ดี ดังนั้น ถ้าจะเติม PQ ให้ลูกในขวบปีแรก อย่าลืมมอบของเล่นที่ดีที่สุดให้กับลูกด้วยนะคะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก