ประเภทของการ ตั้งครรภ์ ทารกแฝด

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ประเภทของการ ตั้งครรภ์ ทารกแฝด
ประเภทของการ ตั้งครรภ์ ทารกแฝด

การ ตั้งครรภ์ แฝด สามารถแบ่งแยกย่อยออกมาได้เป็นสองประเภท โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้

1.แฝดแท้ หรือ แฝดร่วมไข่ หรือ แฝดจากไข่ใบเดียว

แฝดแท้ เกิดจาก เชื้ออสุจิ 1 ตัว เข้าไปปฏิสนธิกับไข่เพียงใบเดียว แล้วต่อมาไข่ที่ถูกผสมแล้วเกิดการแบ่งแยกตัวเองเป็น 2 ใบในภายหลัง โดยส่วนใหญ่จะเกิดหลังจากมีการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้วในโพรงมดลูก คือ เด็กที่เกิดมาจะมีลักษณะเหมือนกันทุกอย่าง มีเพศเดียวกัน รูปร่างหน้าตา สีผม และกรุ๊ปเลือดเหมือนกัน จากสถิติเราพบแฝดชนิดนี้ได้ประมาณ 1 ใน 3 หรือราวร้อยละ 30 ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมด การเกิดแฝดแท้จะมีโอกาสในการเกิดเท่ากันทั้งในการตั้งครรภ์แรกและครรภ์หลัง และไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรืออายุเท่าใดก็ตาม

สำหรับความสำคัญของแฝดแท้นั้นอยู่ที่ระยะเวลาในการแบ่งตัวของไข่ที่ถูกผสมแล้ว หากไข่ที่ถูกผสมมีการแบ่งก่อนหรือภายในวันที่ 12 หลังปฏิสนธิ คุณแม่ก็จะได้ลูกแฝดปกติที่มีรูปร่างหน้าตา กรุ๊ปเลือด และเพศเหมือนกันทุกประการ แต่ถ้ามีการแบ่งตัวช้าหลังจากวันที่ 13 ของการปฏิสนธิไปแล้ว ซึ่งเป็นระยะที่แกนโครงสร้างหลักของร่างกายทารกสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทารกแฝดจะแบ่งตัวแยกจากกันไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดเป็นแฝดที่มีร่างกายติดกันตามบริเวณส่วนต่าง ๆ อาทิ ทรวงอก ศีรษะ หรือลำตัว แฝดแท้นี้บางคู่อาจมีรกและถุงการตั้งครรภ์แยกจากกัน บางคู่ถุงตั้งครรภ์จะแยกเป็นคนละถุง แต่ยังใช้รกร่วมกัน หรือบางคู่ก็อาจใช้รกร่วมกันและอยู่ในถุงตั้งครรภ์เดียวกันเลยก็ได้ ยิ่งทารกต้องใช้อะไรร่วมกันมากเท่าไร โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็มีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น คุณแม่ที่ ตั้งครรภ์ แฝด อาจต้อง อัลตร้าซาวด์ท้องบ่อยกว่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ปกติ

2.แฝดเทียม หรือ แฝดต่างไข่ หรือ แฝดคนละใบ หรือ แฝดจากไข่สองใบหรือมากกว่า

แฝดเทียม เป็นกรณีที่เกิดจาก เชื้ออสุจิ 2 ตัวหรือมากกว่า เข้าไปผสมกับไข่ 2 ใบหรือมากกว่า ทำให้แฝดกลุ่มนี้อาจมีเพศ หน้าตา และกรุ๊ปเลือดเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ ทารกในครรภ์จึงเป็นเสมือนพี่น้องที่มีการเจริญเติบโตอยู่ในโพรงมดลูกในเวลาเดียวกัน รวมถึงไข่ที่ถูกผสมอาจเกิดขึ้นในรอบเดือนเดียวกันหรือคนละรอบเดือนก็ได้ ทารกในครรภ์จึงอาจมีอายุแตกต่างกันได้ประมาณ 4 สัปดาห์ โดยทารกส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหาในระหว่างการตั้งครรภ์ จากสถิติแล้วแฝดชนิดนี้เราจะพบได้ประมาณ 2 ใน 3 หรือราว 70% ของการตั้งครรภ์แฝดทั้งหมด และจะพบได้มากในครรภ์หลังๆ หรือในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุมากๆ ที่เกิดจากการทำงานของรังไข่ที่ผิดปกติ หรือคุณแม่กินยากระตุ้นให้รังไข่ทำงาน ไข่จึงตกมากกว่าครั้งละ 1 ใบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการผสมโดยอสุจิต่างตัวกันแล้วเจริญเติบโตเป็นลูกแฝดก็จะมีรกแยกจากกัน แต่ในบางกรณีก็อาจอยู่ชิดกันจนแยกไม่ออก ขณะเดียวกันแฝดเทียมยังพบได้บ่อยในบางเชื้อชาติ อาทิ ชาวนิโกร หรือคนผิวสี โดยรองลงมาคือ กลุ่มคนผิวขาว ด้านคนผิวเหลืองอย่างชาวเอเชียจะพบได้น้อยกว่า นอกจากนี้อิทธิพลทางพันธุกรรมก็มีส่วนทำให้เกิดลูกแฝดเทียมได้มาก ซึ่งจะมีอิทธิพลมาจากฝ่ายแม่มากกว่าฝ่ายพ่อ และการรักษาผู้มีบุตรยากด้วยการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ก็พบครรภ์แฝดชนิดนี้มาก ทำให้ปัจจุบันมีแฝดเทียมเกิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ