ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 37 คุณแม่มีอาการเจ็บท้องหลอกบ่อยๆ เตรียมตัวกับการคลอดได้เลย

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 37 คุณแม่มีอาการเจ็บท้องหลอกบ่อยๆ เตรียมตัวกับการคลอดได้เลย
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 37 คุณแม่มีอาการเจ็บท้องหลอกบ่อยๆ เตรียมตัวกับการคลอดได้เลย

ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 37 ทารกมีน้ำหนักประมาณ 2.8 กิโลกรัม ลำตัวยาวประมาณ 20 นิ้ว โดยจะเริ่มมีอัตราการเติบโตไม่รวดเร็วเหมือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากรกทำหน้าที่ได้ลดลง โดยสัปดาห์นี้ถือว่าครบอายุครรภ์ ผมของลูกน้อยในตอนนี้อาจมีความยาวได้ตั้งแต่ 1 -4 เซนติเมตร ซึ่งโดยรวมถือว่าร่างกายของลูกสมบูรณ์เต็มที่ ปอด หัวใจ และอวัยวะต่างๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว พร้อมเต็มที่ในการออกมาเจอโลกใบใหม่

ผิวของทารกจะมีสีอมชมพู รอยย่นตามผิวหนังจะเริ่มหายไปในช่วงนี้ สามารถดูดและหายใจนอกรกได้ด้วยตัวเองได้แล้ว รวมถึงเริ่มมีการตอบสนองเช่นเดียวกับเด็กแรกคลอด อาทิ ขนตาลูกเริ่มยาวกระพิบตาได้อย่างคล่องเเคล่ว งอนิ้วมือนิ้วเท้าจับสิ่งของ หันหน้า อ้าปากเมื่อมีสิ่งใดมาสัมผัสแก้ม ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ในการค้นหาหัวนมของแม่ภายหลังคลอด

ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ 37 นับเป็นสัปดาห์แรกที่ทางการแพทย์จัดให้อยู่ในทารกน้อยมีอายุครรภ์ครบกำหนด คือ 37 -42 สัปดาห์ หากคลอดในช่วงอายุครรภ์สัปดาห์นี้เป็นต้นไป ส่วนมากแล้วปลอดภัย เพราะทารกมีระบบการทำงานของปอดที่แข็งแรง และอวัยๆทุกส่วนพร้อมทำงานภายนอกท้องคุณแม่แล้ว

ในส่วนของคุณแม่ช่วงสัปดาห์นี้คุณหมออาจจะตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วหรือยัง มีความบางตัวลงแล้วหรือยังและเด็กอยู่ในท่าไหน และตำแหน่งไหนแล้ว แนะนำให้ไปพบคุณหมอบ่อยขึ้นตามนัดคือ สัปดาห์ละครั้ง เพราะโรคแทรกซ้อนหลายอย่างมักเป็นตอนท้องแก่ อาทิ ครรภ์เป็นพิษหรือ รกเสื่อมสภาพ โดยอาการเจ็บท้องเตือนจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ละครั้งกินเวลานานขึ้น

ด้านคุณแม่ที่มีอาการนอนไม่หลับ แนะนำให้งดใช้มือถือหรือแท็บเล็ตก่อนนอน เพาะการเข้าเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ ดูเว็บไซต์ จะทำให้ร่างกายคุณแม่ตื่นตัวและไม่เรียนรู้ว่าถึงเวลาต้องนอนหลับพักผ่อนแล้ว

ข้อควรระวังคือ ระยะนี้คุณแม่จะมีอาการเจ็บท้องหลอกบ่อยๆ ช่วงนี้ต้องสังเกตตัวเองดีๆ เมื่อเข้าห้องน้ำอย่าลืมเช็คดูว่ามีมูกเลือดออกเยอะหรือไม่ หรือว่ามีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอดหรือไม่ เพราะมูกเลือดเป็นตัวบ่งบอกว่าปากมดลูกมีการคลายตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสัญญาณว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว โดยหากมีเลือดออกมาจากช่องคลอดมากผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาลทันที

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรจัดเตรียมตัวรับมือกับการคลอดที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะสิ่งของสำหรับช่วงเวลาที่ต้องไปอยู่โรงพยาบาล ซึ่งอาจแยกสิ่งของออกเป็นสองกระเป๋า ใบหนึ่งใช้สำหรับระหว่างคลอด อีกใบหนึ่งใช้สำหรับช่วงที่ต้องอยู่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ไม่สามารถจัดเตรียมล่วงหน้าได้ ควรแปะกระดาษโน้ตไว้ด้านหน้าของกระเป๋าเพื่อเตือนตัวเองเมื่อถึงเวลาที่ต้องไปโรงพยาบาล และสุดท้ายควรวางกระเป๋าไว้ที่ที่สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายด้วย