ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 36 ศีรษะทารกมีการกลับหัวมาอยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 36 ศีรษะทารกมีการกลับหัวมาอยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 36 ศีรษะทารกมีการกลับหัวมาอยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด

สัปดาห์ที่ 36 ของการ ตั้งครรภ์ ทารกจะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 กิโลกรัม ลำตัวมีความยาวได้ประมาณ 51 เซนติเมตร ในช่วงเข้าสู่เดือนที่ 9 เดือนสุดท้ายของการตั้งท้อง ตัวทารกจะเลื่อนมาอยู่ด้านล่างของช่องท้องพร้อมฝึกการกระพริบตาในช่วงนี้ ร่างกายของลูกน้อยในท้องจะเริ่มผลัดผม และสร้างไขทารกขึ้นมาห่อหุ้มร่างกายจากน้ำคร่ำ ร่างกายและระบบต่างๆ ของทารกก็จะเติบโตครบสมบูรณ์ สามารถหายใจได้เองและดูดนมได้

เพื่อเตรียมคลอด ทารกจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของศีรษะทารกเพื่อให้ขนาดเล็กลงหรือเรียกว่า molding เกิดขึ้นจากการที่กระดูกกะโหลกศีรษะทารกชนิดแบนและรอยต่อเคลื่อนเข้ามาเกยกัน ส่วนศีรษะทารกถูกผลักดันลงมาเสียดสีกับช่องเชิงกรานที่แคบ มีการกลับหัวมาอยู่ในตำแหน่งพร้อมคลอด หากคลอดออกมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์นี้เป็นต้นไปถือว่าเป็นทารกที่ครบกำหนดแล้ว

ขณะใบหน้ากลมโต แก้มป่อง เนื่องจากกล้ามเนื้อต่างๆของทารกในครรภ์ ได้รับการพัฒนาที่สมบูรณ์พร้อมที่จะทำงานแล้ว ทารกจะเตะบ่อยขึ้น ช่วงนี้สมองของทารกจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว สามารถได้ยินเสียงได้ ส่วนใหญ่ของอวัยวะภายในร่างกายทารกจะพัฒนาเต็มที่แล้ว ยกเว้นปอดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

สัปดาห์นี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าท้องแข็งบ่อยขึ้น เพราะมดลูกมีการบีบตัว การบีบตัวนี้ก็จะไม่สม่ำเสมอ ไม่ต่อเนื่อง เป็นสักระยะแล้วก็หายไปที่เราเรียกว่าเจ็บครรภ์เตือน การหดตัวรัดตัวของมดลูกนี้ก็เพื่อดันตัวทารกมาประชิดปากมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมที่จะคลอดออกมา ส่วนข้อต่อและเนื้อเยื่อในร่างกายของคุณแม่จะคลายตัวและอ่อนนุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณกระดูกเชิงกราน และยิ่งใกล้วันครบกำหนดคลอด มดลูกจะยังคงซ้อมหดรัดตัวถี่ขึ้น และบางรายอาจมีอาการคันท้องตลอดเวลา ให้พกยาทาแก้อาการคันติดตัวไว้

ทั้งนี้ คุณแม่ ตั้งครรภ์ ท้องใหญ่ขึ้นมากเนื่องจากใกล้จะคลอดเต็มที่ หลายคนเจอกับปัญหานอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่สนิทเพราะความอึดอัดของหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้น และอาจจะกังวลใจต่างๆ นานา เมื่อถึงเวลาใกล้ ดังนั้นขอแนะนำให้เลือกท่านอนให้เหมาะ คือท่านอนตะแคงเหมือนกอดหมอนข้าง และหาหมอนรองขาไว้เล็กน้อย งีบหลับเป็นช่วงๆ ระหว่างวัน อย่ากินอาหารหนักเกินไป ช่วงใกล้จะนอนหลับ และพยายามปรับอุณหภูมิให้พอดี ไม่ร้อนไม่หนาว ก็ช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แรงกดที่เพิ่มขึ้นบริเวณช่องท้องด้านล่างที่คุณแม่อาจเริ่มรู้สึกได้ในขณะนี้เรียกกว่า อาการท้องลด เป็นอาการที่ลูกน้อยของคุณเคลื่อนตัวลงมาที่บริเวณอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะออกมาลืมตาดูโลก