ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 35 คุณแม่ไม่ควรเดินทางไปไหนไกลๆ และต้องพกพาสมุดบันทึกติดตัว

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 35 คุณแม่ไม่ควรเดินทางไปไหนไกลๆ และต้องพกพาสมุดบันทึกติดตัว
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 35 คุณแม่ไม่ควรเดินทางไปไหนไกลๆ และต้องพกพาสมุดบันทึกติดตัว

สัปดาห์ที่ 35 ของการ ตั้งครรภ์ ตอนนี้ทารกในครรภ์มีนํ้าหนักเกือบ 2.5 กิโลกรัม ลำตัวยาวประมาณ 20 นิ้ว ช่วงท้ายของเดือนที่ 8 ของการตั้งท้อง พื้นที่ว่างในมดลูกเริ่มมีน้อยลงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทารกในครรภ์เติบโตเต็มที่พร้อมออกมาแล้ว ลูกในท้องน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ 15% ของร่างกายลูกน้อยเป็นไขมัน จะดิ้นและเตะแรงขึ้น ในช่วงหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากเสียงของการทำงานของลำไส้เสียงดังรบกวนการนอนหลับของทารก และจะดิ้นมากอีกทีตอน 3 ทุ่มถึงตี 1

ด้านไขมันปกคลุมทั่วร่างกายทารกในครรภ์ โดยเฉพาะช่วงรอบๆ ไหล่ ระบบย่อยอาหาร พัฒนาจนพร้อมที่จะย่อยนมได้แล้ว ตับและไตของลูกน้อยพัฒนามากขึ้นจนพร้อมที่จะจัดการกับของเสียในร่างกายแล้ว ส่วนลำไส้เริ่มสะสมของเสียของลูกน้อยที่กินน้ำคร่ำเข้าไป จึงเต็มไปด้วยขี้เทา ซึ่งทารกจะถ่ายขี้เทาออกมาในช่วงแรกหลังคลอดออกมา และในขณะที่ลูกเติบโตขึ้นปริมาณน้ำคร่ำก็จะลดลง

สำหรับคุณแม่มดลูกจะอยู่สูงกว่าสะดือประมาณ 6 นิ้ว ช่วงนี้น้ำหนักตัวคุณจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 10.9 – 13.2 กิโลกรัม แพทย์จะตรวจหาการติดเชื้อแบคทีเรีย Group B Streptococcus โดยยอดมดลูกที่ขยับขึ้นในระดับสูงสุด อยู่ใต้กระดูกสันอกอาจทำให้คุณแม่หายใจขัดเจ็บชายซี่โครง รับประทานอาหารลำบาก แนะนำให้ลองใช้วิธีเดียวกับตอนแพ้ท้องใหม่ๆ คือการรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง และพักผ่อนให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยอาการปัสสาวะบ่อยจะยังคงมีต่อไปจนถึงช่วงใกล้คลอด

ด้านจิตใจอาการเหนื่อย ซึมเศร้า และอารมณ์แปรปรวนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ระยะแรกๆ อาจกลับมาเกิดได้ในระยะนี้ ทำให้คุณแม่รู้สึกโมโหง่าย ดังนั้นควรหากิจกรรมสนุกๆทำ เพื่อช่วยให้คุณคลายความวิตกกังวลและช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น หรือไม่ก็พูดคุยกับใครสักคนที่ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจ

นอกจากนี้ คุณแม่และคุณพอควรเตรียมจัดบ้านต้อนรับสมาชิกใหม่กันได้แล้ว โดยเน้นที่ความสะอาด และปลอดภัยกับเด็กทารก อาทิ หาปรอทวัดอุณหภูมิใส่ตู้เย็น เพื่อให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเก็บขวดนม อาหารเสริมลูก มีชุดปฐมพยาบาลติดบ้านเอาไว้ เริ่มอ่านคอลัมน์แนะนำเกี่ยวกับการคลอดต่างๆ ในนิตยสารที่เชื่อถือได้ อาทิ ศึกษาวิธีให้นมลูก การอุ้มลูก วิธีอาบน้ำ และศึกษาการนอนของเด็กแรกเกิด เป็นต้น

อนึ่ง ในช่วงใกล้คลอด คุณแม่ไม่ควรไปไหนไกลๆ แต่หากมีเหตุจำเป็นให้ต้องเดินทางจริงๆ ควรพกพาสมุดบันทึกประวัติสุขภาพครรภ์ไปด้วย โดยคุณหมอจะต้องทำบันทึกไว้ทุกครั้งที่คุณแม่ไปตรวจตามนัด เผื่อว่าหากเกิดเจ็บท้องคลอดกะทันหันที่ไหน สูติแพทย์ที่อยู่บริเวณนั้นจะได้ให้การช่วยเหลือคุณแม่ได้อย่างถูกต้อง