ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 34 ทารกส่วนใหญ่กลับหัวอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอดแล้ว

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 34 ทารกส่วนใหญ่กลับหัวอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอดแล้ว
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 34 ทารกส่วนใหญ่กลับหัวอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอดแล้ว

ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 34 สัปดาห์นี้น้ำหนักทารกในครรภ์ประมาณ 2.25 กิโลกรัม ขนาดลำตัวยาวประมาณ 45 เซนติเมตร ทารกสามารถฟัง รู้สึก มองเห็นได้บ้าง ปอดของทารกในครรภ์เติบโตเกือบสมบูรณ์เต็มที่ ไขหุ้มทารก ที่เคลือบตัวทารกหนาขึ้น ขนอ่อนที่ปกคลุมทารกช่วงแรกหายไปเกือบหมด เล็บมือกับเล็บเท้าของลูกน้อยมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น ทารกส่วนใหญ่กลับหัวอยู่ในตำแหน่งที่พร้อมคลอดแล้ว

ทั้งนี้เซลล์สมองทารกในครรภ์ขยายขนาดโตขึ้น มีการแผ่ขยายสร้างโยงใยของระบบประสาทมากขึ้น สมองมีการหยักตัวเป็นร่องเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเก็บสะสมข้อมูลยิ่งเซลล์สมองมีขนาดใหญ่ มีเส้นใยมากมีการเชื่อมโยงประสานของเส้นใยมาก มีร่องสมองมากก็ยิ่งจะทำให้มีความจำ มีการเรียนรู้ และรับรู้ข้อมูลต่างๆ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับในช่วงนี้ ลูกยังคงดิ้นแรงอยู่คุณแม่จะรับรู้ได้ว่าส่วนไหนเป็นแขนขาของลูก โดยการจับผ่านหน้าท้องตอนที่ลูกดิ้น ลูกจะบิดตัวยืดแขนขาไปมาบางทีจะเห็นว่านูนขึ้นมาเป็นรูปทรง คุณแม่ควรใช้มือลูบคลำแล้วคุยกับลูกเบาๆ พยายามเล่าเรื่องต่างๆ ให้ลูกฟัง เพื่อที่ตัวคุณแม่และลูกน้อยก็จะได้ผ่อนคลายไปด้วย

ในส่วนของคุณแม่ ความดันโลหิตลดต่ำลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืดได้ง่าย บางรายอาจรู้สึกเกร็งที่ยอดมดลูกและค่อยๆ คลาย จากการบีบรัดตัวของมดลูก ควรงดกิจกรรมต่างๆที่ต้องออกแรงให้น้อยลง เพื่อเก็บพลังงานเตรียมพร้อมเอาไว้สำหรับการคลอด และเพื่อให้นอนหลับได้อย่างเต็มที่ คุณแม่ควรเปลี่ยนท่านอนเป็นนอนตะแคงซ้ายซึ่งจะช่วยให้การไหลเวียนเลือด การย่อยอาหาร และการทำงานของตับและไตมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายเพราะอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นและอาจทำให้ความดันเลือดต่ำได้ด้วย

ด้านโภชนาการ ให้รับประทานผลไม้จิ้มกับโยเกิร์ต หรือผสมผลไม้หลายชนิดรวมทั้งธัญพืชต่างๆลงในโยเกิร์ต และพกผลไม้อบแห้งถุงเล็กๆ ไว้ในกระเป๋าถือของคุณสำหรับขบเคี้ยวขณะที่ออกไปทำธุระนอกบ้าน

อย่างไรก็ตาม คุณแม่บางท่านจะรู้สึกว่าท้องเริ่มลดลง เนื่องจากส่วนนำของเจ้าหนูเคลื่อนลงไปใน ช่องเชิงกรานได้บ้างแล้ว ทำให้รู้สึกว่าบริเวณลิ้นปี่โล่งขึ้น หายใจสะดวกขึ้น หากตั้งใจว่าจะให้นมลูกหลังคลอด ควรหมั่นดูแลหัวนมไม่ให้แห้ง และถ้าคุณแม่มีหัวนมบอด ควรลองใช้นิ้วมือคีบและดึงออกมาบ่อยๆ โดยเต้านมของคุณแม่จะหนักขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น การใส่เสื้อชั้นในทั้งกลางวันและกลางคืนสามารถช่วยให้คุณรู้สึกสบายตัวมากขึ้น เสื้อชั้นในที่กระชับหน้าอกยังช่วยลดการหย่อนยานของหน้าอกในอนาคตได้อีกด้วย ช่วงนี้อาจมองไปถึงการให้นมลูกในอนาคต คุณแม่ควรต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมแม่ หรือพูดคุยกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิดที่มีประสบการณ์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์กับคุณแม่