ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 33 ทารกในครรภ์สามารถแยกกลางวันกลางคืนได้แล้ว

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 33 ทารกในครรภ์สามารถแยกกลางวันกลางคืนได้แล้ว
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 33 ทารกในครรภ์สามารถแยกกลางวันกลางคืนได้แล้ว

สัปดาห์ที่ 33 ของการ ตั้งครรภ์ ทารก จะมีลำตัวยาวประมาณ 18-19 นิ้ว น้ำหนักตัวประมาณ 2 กิโลกรัม สมองของทารกในครรภ์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ระบบประสาทส่วนกลางของทารกพัฒนาไปอย่างมาก เส้นใยประสาทมีการสร้างเยื่อหุ้มที่มาจากไขมัน ทำให้การส่งผ่านสัญญาณในเส้นประสาททำได้รวดเร็วขึ้น มีการแผ่กิ่งก้านสาขา เพื่อเชื่อมต่อกันเป็นร่างแหของระบบประสาท

ในส่วนของดวงตา นัยน์ตาของลูกน้อยเริ่มปรับให้เข้ากับแสงสว่างหรือความมืดได้แล้ว ทารกในครรภ์จะสามารถแยกกลางวันกลางคืนจากแสงที่ผ่านผนังโพรงมดลูก รวมถึงสามารถกระพริบตาเวลาเจอแสงได้แล้ว โดยจะลืมตาเวลาตื่นนอน และจะหลับตาเวลานอน กระดูกแข็งแรงและเชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมถ้าต้องคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ ผมของทารกน้อยหนาขึ้น สีผมในช่วงนี้อาจเปลี่ยนไป ซึ่งทารกจะเคลื่อนไหวร่างกายลดลง เข่าจะงอ คางอยู่ใกล้กับหน้าอก แขนและขาไขว้กัน

สำหรับคุณแม่ภาวะโลหิตจางในตัวคุณแม่จะเริ่มลดลง เพราะปริมาณพลาสมาเริ่มมีปริมาณเท่ากับเซลล์เม็ดเลือดแดงอีกทั้งภาวะร่างกายของคุณแม่ในช่วงนี้จะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหารมื้อปกติเพิ่มขึ้นคุณแม่จึงไม่ต้องกังวลกับการบำรุงด้วยธาตุเหล็กอีกต่อไปแล้วเว้นแต่คุณแม่จะเป็นโรคโลหิตจาง น้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มอยู่ที่ 10-12.7 กิโลกรัม โดยน้ำหนักตัวจะเพิ่มประมาณ 0.45 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ตัวทารก

ขณะเดียวกันคุณแม่ต้องเผชิญกับอาการ นอนหลับยาก ไม่ค่อยสบายตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนในร่างกายของคนท้อง ปริมาณของมดลูกได้เพิ่มขึ้น 500 เท่าจากการตั้งครรภ์ น้ำคร่ำอยู่ที่ระดับสูงสุด ภาวะเลือดจางทางสรีรวิทยาเริ่มบรรเทาเนื่องจากผลิตเม็ดเลือดแดงตามการผลิตพลาสมาทัน คุณอาจเกิดความฝันที่แปลกประหลาด และต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เนื่องจากกลั้นปัสสาวะได้น้อยลง และจะรู้สึกร้อน เพราะระบบการเผาผลาญในร่างกายที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง และสะดือคุณแม่อาจจะตื้นขึ้น มีสีคล้ำลง เส้นดำกลางลำตัวก็จะมีสีเข้มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของคุณแม่บางคน อาจรู้สึกหายใจค่อนข้างลำบากในช่วงนี้ โดยอาจรู้สึกเรื่อยไปตลอดจนกว่าลูกจะคลอด อาการเช่นนี้มักจะเกิดขึ้นในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก แต่สำหรับคุณแม่ที่เคยคลอดลูกมาแล้ว อาการนี้จะหายไปก่อนที่ลูกจะคลอด

อนึ่ง หากคุณแม่รู้สึกเจ็บบริเวณซี่โครง เนื่องจากลูกน้อยถีบตรงบริเวณนั้น ควรนั่งหลังตรงและเอามือลูบบริเวณนั้นเบาๆ เพื่อทักทายและบอกให้ลูกรับรู้ถึงแรงทักทายของเขา โดยคุณแม่ที่ทำงาน ควรเคลียร์งานให้เรียบร้อยล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวลาคลอดก่อนครบกำหนดคลอด 2-4 สัปดาห์ที่จะถึง