ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 31 ทารกได้ยินเสียงต่างๆที่แตกต่างกัน และตอบสนองต่อเสียงเพลง

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 31 ทารกได้ยินเสียงต่างๆที่แตกต่างกัน และตอบสนองต่อเสียงเพลง
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 31 ทารกได้ยินเสียงต่างๆที่แตกต่างกัน และตอบสนองต่อเสียงเพลง

สัปดาห์ที่ 31 ของการ ตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์จะเพิ่มมากกว่าความยาวขนาดความยาวประมาณ 16-17 นิ้ว น้ำหนักตัว ประมาณ 1.6 กิโลกรัม ในช่วงเข้าสู่เดือนที่ 8 ของการตั้งท้องของคุณแม่ อวัยวะของลูกน้อยยังคงพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ส่วนแขนและขาและตัวเริ่มมีไขมันสะสมมากขึ้นทำให้ผิวไม่ค่อยเหี่ยวย่นแล้ว และร่างกายของลูกน้อยปกคลุมไปด้วยขนอ่อนที่เรียกว่า ลานูโก ที่ช่วยรักษาความอบอุ่นของร่างกายก่อนที่จะมีชั้นไขมันที่เพียงพอ และในช่วงสัปดาห์นี้ ขนอ่อนเหล่านั้นจะเริ่มหลุดไป

ด้านปอดของทารกจะพัฒนาขึ้นจนเกือบสมบูรณ์ถุงลมในปอดสามารถหลั่งสารลดแรงตึงผิวออกมาเพื่อช่วยให้ถุงลมคงรูปไม่แฟบติดกัน หากทารกจำเป็นต้องคลอดออกมาตอนนี้ก็ค่อนข้างปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายแล้ว ประสาทสัมผัสทั้ง 5 มีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ระบบย่อยอาหารเกือบสมบูรณ์พร้อมที่จะทำงานแล้ว ลูกน้อยของคุณสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ที่แตกต่างกัน เช่น เสียงที่คุ้นเคย และ เสียงเพลง โดยจากการศึกษาพบว่าเด็กทารกที่เคยได้ยินเสียงเพลงหลักที่ใช้ประกอบละครในตอนที่อยู่ในครรภ์มารดาตอบสนองต่อเสียงเพลงดังกล่าวเมื่อคลอดออกมา ซึ่งต่างจากเด็กทารกที่ไม่เคยได้ยินเพลงนั้นมาก่อน ระยะนี้คุณแม่อาจสังเกตถึงช่วงเวลาที่ทารกตื่นเพราะมีการเคลื่อนไหว หรือหลับได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ มดลูกของคุณแม่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นมาก โดยกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของช่องท้อง และคุณจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มอยู่ที่ประมาณ 9.5-12.2 กิโลกรัม ในช่วงนี้คุณสามารถคาดการณ์ได้ว่าอีกไม่นาน คุณก็จะให้กำเนิดลูกน้อยของคุณแล้ว บางครั้งคุณแม่จะรู้สึกปวดหัวขึ้นมาง่ายๆ เป็นๆ หายๆ หากคุณแม่รู้สึกปวดมากให้หาที่เงียบๆ พักผ่อนเล็กน้อย แล้วจะดีขึ้น

สำหรับตัวมดลูกจะบีบตัวเป็นระยะห่างๆกัน เป็นการเริ่มต้นการหดรัดตัวของมดลูก โดยจะรุนแรงมากขึ้นแต่ก็ไม่ถึงกับมีการเจ็บปวดเกิดขึ้น และบีบรัดตัวครั้งละไม่นานเกิน 30 วินาที คุณแม่จะพบว่า มีการปัสสาวะเล็ดเวลาไอ จามหรือว่าหัวเราะ ซึ่งเป็นอาการที่น่ารำคาญใจ เกิดจากการเพิ่มขึ้นของแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ เพราะการขยายตัวของมดลูก วิธีควบคุมไม่ให้ปัสสาวะเล็ดออกมา คือเวลาคุณแม่จะปัสสาวะ ให้เอนตัวไปข้างหน้าเพื่อไล่น้ำออกจากกระเพาะปัสสาวะให้หมด และพยายามเข้าห้องน้ำให้บ่อยครั้งทุก 30-60 นาที ควรใส่ผ้านามัยหรือแผ่นซับถ้าจำเป็น อาการนี้จะหายไปเองหลังจากคลอด

อย่างไรก็ดี คุณแม่บางท่านอาจมีน้ำนมไหลออกมาเป็นครั้งแรกจากหน้าอกอาจต้องหาผ้าปิดรองไว้ที่หัวนมเวลาใส่ชุดชั้นในจะได้ไม่ไหลเลอะเปื้อนเสื้อชั้นในโดยไม่รู้ตัว แนะนำให้ฝึกลมหายใจและการผ่อนคลาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด