ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 30 ทารกจะมีการกลับหัว ส่วนคุณแม่เริ่มมีอาการเจ็บครรภ์เตือน

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 30 ทารกจะมีการกลับหัว ส่วนคุณแม่เริ่มมีอาการเจ็บครรภ์เตือน
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 30 ทารกจะมีการกลับหัว ส่วนคุณแม่เริ่มมีอาการเจ็บครรภ์เตือน

ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 30 ทารกจะมีลำตัวยาวเกือบ 16 นิ้ว แล้วและน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม เข้าสู่ช่วงท้ายของเดือนที่ 7 ลูกยังคงกลับตัวไปมาอย่างสม่ำเสมออาจจะเอาหัวลง หรือ เอาก้นลงก็ได้ แต่ส่วนใหญ่เมื่อถึง 32 สัปดาห์ก็มักจะกลับหัวลง ตามทรงของมดลูกที่ด้านบนจะกว้าง ส่วนด้านล่างจะแคบกว่า และถ้าอายุครรภ์เกิน 35 สัปดาห์แล้วยังไม่กลับหัว ก็มักจะไม่กลับหัวอีก

ในส่วนของสมองจะเติบโตอย่างรวดเร็วอีกครั้ง มีจำนวนเซลล์ประสาทเพิ่มขึ้นมากมายนับแสนล้านเซลล์ ระบบประสาทมากขึ้น เมื่อโยงใยมากขึ้นสมองของทารกจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพิ่มรอยหยักบนสมองเพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ในเนื้อเยื่อสมองเพื่อการพัฒนาและการเรียนรู้ของลูกน้อย โดยในช่วงนี้จะมีการสร้างไขมันใหม่ขึ้นเพื่อควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้ลูกน้อยสามารถรักษาความอบอุ่นร่างกายด้วย ขณะที่อวัยวะเพศ เพศชายนั้นลูกอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนตัวจากเชิงกรานมาอยู่ในถุงอัณฑะ ส่วนเพศหญิงนั้นคลิตอริสยังคงยื่นออกมาเพราะแคมยังเจริญไม่เต็มที่

สำหรับคุณแม่ช่วงนี้จะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียง่ายขึ้น เป็นสัญญาณเตือนของร่างกายให้คุณแม่พักผ่อนมากขึ้น ควรนอนพักผ่อน ให้ได้อย่างน้อยวันละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป แนะนำให้นอนตะแคงซ้ายดีกว่านอนตะแคงขวา ควรหลีกเลี่ยงการนอนหงาย เนื่องจากน้ำหนักมดลูกที่มากขึ้นอาจไปกดทับเส้นเลือดใหญ่ทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่หัวใจไม่ได้ ทำให้ความดันตกลงเกิดอาการเป็นลมได้มดลูกที่ขยายตัวอาจกดลงบนเส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับแขนหรือขา ทำให้ขา นิ้วเท้า หรือแขนรู้สึกเหน็บชา ซึ่งเป็นอาการปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ จะหายไปเองหลังจากคลอด

ทั้งนี้ การตื่นบ่อยในเวลากลางคืนเพื่อถ่ายปัสสาวะอาจมีส่วนให้ล้ามากขึ้นเรื่อยๆ พยายามพักผ่อนให้มากๆ ในช่วงกลางวันและเข้านอนแต่หัวค่ำ ดื่มนมอุ่นๆ ด้วยก็ได้ จะช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น บางรายอาจมีอาการเส้นเอ็นขยายตัวอาจส่งไปถึงบริเวณเท้า ทำให้รองเท้าคู่เดิมใส่ไม่ได้จำเป็นต้องซื้อรองเท้าคู่ใหม่ เพื่อให้เดินสบายขึ้น

ด้านโภชนาการ ช่วงนี้ลูกกำลังต้องการสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างมากมายและอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโปรตีน วิตามินซี กรดโฟลิก และธาตุเหล็กเพราะกระดูกกำลังต้องการแคลเซียมถึง 250 มิลลิกรัมทุกวัน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่คุณแม่ควรทราบในช่วงนี้คือ อาการเจ็บท้องหลอก หรือ เจ็บครรภ์เตือน โดยอาการเจ็บท้องเหมือนจะคลอดอาจเกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว แต่ไม่ใช่การเจ็บคลอดจริง เป็นเพียงการซ้อมหดรัดตัวของมดลูกเพื่อให้ร่างกายเตรียมพร้อมเท่านั้น โดยมักรู้สึกเจ็บบริเวณช่องท้องนาน 15-30 วินาที บางครั้งนานถึง 2 นาที แต่เมื่อเปลี่ยนท่าทางหรือทำกิจกรรมอื่น อาการก็จะหายไป ซึ่งบางคนอาจมีอาการเช่นนี้มาตั้งแต่อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 20 แล้ว

ขณะเดียวกัน อาการเจ็บครรภ์เตือน และเจ็บครรภ์คลอดจริงๆ แตกต่างกันตรงที่ เจ็บเตือนนั้นปากมดลูกยังคงปิดสนิท แต่เจ็บจริงปากมดลูกจะเปิดออก อาการเจ็บเตือนมดลูกจะหดรัดตัวไม่สม่ำเสมอจะเกิดขึ้นเมื่อใด เวลาใดก็ได้ ซึ่งเจ็บจริงนั้น มดลูกจะหดรัดตัวสม่ำเสมอ และถี่มากขึ้น เจ็บนานขึ้น มดลูกอาจบีบตัวอยู่นานถึงสองนาทีและรุนแรงมากขึ้น การเจ็บเตือนเหมือนเป็นการซ้อมความพร้อมของการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ในการคลอดที่กำลังจะเกิดขึ้น