ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 28 คุณแม่ท้องโตมาก เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่ว

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 28 คุณแม่ท้องโตมาก เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่ว
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 28 คุณแม่ท้องโตมาก เริ่มเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่ว

ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 28 ทารกมีน้ำหนักขึ้นมาอีก 2-3 ขีด อยู่ที่ประมาณ 1.2 กิโลกรัม ลำตัวยาว 13-14 นิ้ว ในขณะที่ลูกโตขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่ว่างในครรภ์ก็ลดน้อยลงทุกขณะ แต่ลูกยังคงเตะครรภ์เมื่อรู้สึกว่ามีสิ่งที่น่าตื่นเต้น และจะหดแขนและขาทั้งสองมาไว้แนบหน้าอกในท่าขดตัวเพื่ออยู่ในท่าที่สบายขึ้น ขณะที่ ปอด กับ กระบังลม เริ่มหายใจโดยมีจังหวะที่แน่นอน โดยจะสูดเอาน้ำคร่ำเข้าปอด และใช้กระบังลมดันน้ำคร่ำออกมา เหมือนเวลาเราหายใจเข้าออก

ด้านสมองได้มีการพัฒนาขนาดโตตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 จะเริ่มมีรอยหยัก มีชั้นไขมันที่ปกคลุมเส้นประสาททั้งหมดเอาไว้ สมองมีการพัฒนาส่วนที่จะใช้คิดคำนวณ โดยตอนนี้ทารกสามารถรู้สึกเจ็บ ร้องไห้ เมื่อถูกกระตุ้นด้วยเสียง หรือแสง ทารกจะตอบสนองโดยการลืมตา และระบบประสาทจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วสมองจะโตขึ้นจนเต็มเนื้อที่ภายในกะโหลกศีรษะและมีรอยหยักบนพื้นผิวสมองมากขึ้น เพื่อเพิ่มเนื้อที่ในการเก็บข้อมูลมากขึ้น

ในส่วนของคุณแม่ ช่วงนี้ท้องจะโตมากขึ้นและทำให้มดลูกดันเบียดปอดให้มีปริมาตรเล็กลง คุณแม่จึงหายใจเร็วขึ้นถี่ขึ้นกว่าปกติ คุณแม่จะรู้สึกอุ้ยอ้ายเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่ว อึดอัดนอนหลับไม่ได้เต็มที่ ยอดของมดลูกอยู่เหนือสะดือ 8 เซ็นติเมตร น้ำหนักคุณแม่จะเพิ่มขึ้น 7-10 กิโลกรัมขนาดของมดลูกที่โตขึ้นจะดันกระเพาะอาหารขึ้นไป หากคุณแม่รับประทานอาหารแล้วแน่นท้องมาก ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยๆอีกรอบ

สำหรับหน้าอกของคุณแม่ยังคงมีขนาดใหญ่ขึ้น อาจจะมีนํ้านมสีเหลืองไหลออกมาเล็กน้อย แต่ต้องระวังเพราะการกระตุ้นนม เนื่องจากจะทำให้มดลูกบีบตัว และเกิดการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ หัวใจคุณแม่ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะสูบฉีดเลือดไปเลี่ยงร่างกาย รก และทารก ทำให้หัวใจคุณแม่เต้นเร็วขึ้น 10-15 ครั้งต่อนาที และอาการบวมตามมือและเท้าเกิดขึ้นเป็นปกติ เพราะร่างกายสะสมน้ำไว้มาก อาจจะสังเกตได้จากแหวนที่คับมากขึ้น เท้าที่ใหญ่ขึ้นอาจจะมีบวมหลังเท้า ช่วงนี้ควรทานผักผลไม้มากๆ รวมถึงงดกิจกรรมที่ใช้ร่างกายหนัก

อย่างไรก็ตาม การตรวจครรภ์ของว่าที่คุณแม่จะมีขั้นตอนน้อยลง อาจมีการตรวจปัสสาวะ ระดับความเข้มข้นของเลือดและความดันโลหิตไปตลอดจนกว่าจะคลอด โดยต้องตรวจอัลตราซาวน์อีกครั้ง หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย หรือ กรณีคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด

ข้อควรระวังเกี่ยวกับภาวะเเทรกซ้อนในช่วงเดือนที่ 7 คือ การที่ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด , ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดบริเวณช่องท้องในขณะตั้งครรภ์ เช่นไส้ติ่งอักเสบ , มีน้ำคร่ำปริมาณมากหรือน้อยเกินไป , มีเลือดออกทางช่องคลอดหลังจากตั้งครรภ์ไปแล้ว 16 สัปดาห์ , มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ , รกลอกตัวก่อนกำหนด และ มารดาอายุน้อยกว่า 16 ปี หากเข้าข่ายหรือมีอาการแบบนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที