ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 19 ผิวหนังของทารกเริ่มพัฒนาเม็ดสีที่เป็นตัวกำหนดสีผิวของลูก

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 19 ผิวหนังของทารกเริ่มพัฒนาเม็ดสีที่เป็นตัวกำหนดสีผิวของลูก
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 19 ผิวหนังของทารกเริ่มพัฒนาเม็ดสีที่เป็นตัวกำหนดสีผิวของลูก

การ ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 19 ทารกในครรภ์มีลำตัวยาวประมาณ6 นิ้ว มีนํ้าหนักประมาณ  240 กรัม ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว ผิวหนังของทารกเริ่มพัฒนาเม็ดสี ซึ่งเป็นตัวกำหนดสีผิวของลูกแล้ว และผิวหนังก็ถูกเคลือบด้วย ไขมันในทารกแรกเกิด การได้ยินพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วและไวพอที่จะได้ยินเสียงที่สูงหรือต่ำเกินกว่าที่ผู้ใหญ่จะได้ยิน ระบบประสาท ทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของ ดวงตาทั้งสองข้างที่เคยอยู่ค่อนไปทางด้านข้าง ก็จะมาอยู่ตรงใบหน้า เส้นผมบนหนังศีรษะยาวขึ้นในลักษณะหรอมแหรม โดยสมองของทารกจะเริ่มสร้างการรับรู้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ถึง รูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส ข้อควรระวังเป็นพิเศษคือเรื่องของการได้ยิน พ่อแม่ต้องระวังคำพูดมากยิ่งขึ้น ไม่ส่งเสียงดังหรือพูดจาหยาบคาย และพยายามลองหาหนังสือนิทานมาอ่าน ฟังเพลงบรรเลงหรือเพลงคลาสสิกเพราะๆเบาๆ และพูดคุยกับลูกทุกวันก็จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อทารก รวมถึงสภาพจิตใจของคุณแม่เองด้วย

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวคุณแม่ มดลูกที่โตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจะทำให้เส้นเอ็นที่ยึดมดลูกทางด้านข้างถูกยืดจนตึง ดังนั้นหากมีการ ล้มตัวลงนอนตรงๆ หรือ เคลื่อนไหวเร็วๆ เช่น ลุกจากท่านั่งหรือแค่เอี้ยวตัวคุณแม่จะรู้สึกเจ็บบริเวณด้านข้างของมดลูกได้ ขณะเดียวกันอาจมีอาการอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็น ตะคริว บวมหลังเท้า ปวดหลัง และตามผิวหนังจะพบหลอดเลือดขยายเห็นได้ชัดบริเวณใบหน้า ไหล่ แขน เป็นต้น บางรายจะมีอาการขี้ร้อน หงุดหงิด ให้เลือกเสื้อผ้าเหมาะสม ควรอาบน้ำให้บ่อยขึ้น และนอนในห้องที่มีพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ

ด้านโภชนาการ คุณแม่ต้องทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกทานธัญพืชและขนมปังแบบไม่ขัดสีให้มากขึ้น ทานแคลเซียมให้ได้ตามปริมาณที่จำเป็นในแต่ละวัน โดยควรทานปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ปลาช่อน ปลาสวาย ถั่ว วอลนัท บร็อคโคลี ดอกกะหล่ำ และอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมประเภทไขมันต่ำ อาทิ โยเกิร์ตและชีส ทุกวัน เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน โดยสามารถทานวิตามินรวมเพื่อช่วยเสริมสารอาหารที่จำเป็น อาทิ วิตามินดี และกรดโฟลิก ได้

นอกจากนี้ คุณแม่ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ทานทีละน้อย แต่ทานบ่อยๆ พยายามไม่ทานอาหารตอนใกล้เวลานอนมากเกินไป เพื่อให้เวลาอาหารได้ย่อย และควรหลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด น้ำมะนาว กาแฟ และช็อกโกแลต

อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำคือ การดื่มน้ำก่อนทานอาหารจะช่วยในการย่อย และการดื่มนมสักเล็กน้อยจะช่วยลดความเจ็บปวดของหลอดลม หากคุณแม่รู้สึกแสบร้อนที่บริเวณหน้าอก