ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 17 ทราบเพศที่แน่นอนของลูก เน้นการทานอาหารที่มีประโยชน์

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 17 ทราบเพศที่แน่นอนของลูก เน้นการทานอาหารที่มีประโยชน์
ตั้งครรภ์ สัปดาห์ที่ 17 ทราบเพศที่แน่นอนของลูก เน้นการทานอาหารที่มีประโยชน์

การ ตั้งครรภ์ ใน สัปดาห์ที่ 17 เข้าสู่เดือนที่ 5 ของการท้อง ขอแสดงความยินดีอีกครั้ง เพราะเมื่อทำอัลตราซาวน์ในเดือนนี้ คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นหัวใจของลูกน้อยเต้น เริ่มเห็นนิ้วมือ นิ้วเท้า แขนและขาของชัดขึ้น รวมถึงอาจเห็นสมอง กระดูกสันหลัง และทราบเพศที่แน่นอนของลูกแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะลูกชาย ลูกสาว ลูกแฝด หลังจากนี้คุณแม่ก็ต้องยิ่งดูแลสุขภาพร่างกายให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอดชีวิตใหม่ขึ้นมาบนโลก

ทั้งนี้ ทารกจะมีความยาวอยู่ที่ประมาณ 11-12 ซม. หรือประมาณ 5 นิ้ว รวมถึงมีน้ำหนักประมาณ 100-140 กรัมแล้ว โดยเริ่มพัฒนาประสาทรับรู้ในส่วนอื่นๆ สามารถมองเห็นได้เป็นครั้งแรก รวมถึงเริ่มขมวดคิ้วได้แขนขาสมบูรณ์มากขึ้น สามารถขยับข้อต่อต่างๆ ระบบการไหลเวียนเลือดและระบบปัสสาวะกำลังเสร็จสมบูรณ์ ทำงานอย่างประสิทธิภาพ ขณะที่หัวใจสูบฉีดเลือดสูงสูดวันละ 24 ลิตร  และเริ่มมีผิวหนังและกล้ามเนื้อ ต่อมเหงื่อก็เริ่มสร้างขึ้นแล้ว หลอดลมฝอยเริ่มแตกแขนงออกจากหลอดลมและแผ่ออกไปทั่วปอด เพื่อทำหน้าที่ลำเลียงอากาศ ทำให้ปอดของทารกพร้อมจะสูดเอาออกซิเจนเข้าไปได้แล้ว

ในส่วนของคุณแม่ หัวใจของคุณแม่จะเพิ่มปริมาณเลือดส่งออกจากหัวใจต่อนาทีขึ้นร้อยละ 40โดยประมาณ ปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นนี้เพิ่มความดันแก่หลอดเลือดขนาดเล็ก เช่น หลอดเลือดฝอยในจมูกและเหงือก ทำให้หน้าตาดูสดใส แต่เตรียมพร้อมสำหรับการมีเลือดกำเดาออกเล็กน้อย อาจรู้สึกคันจมูก และมีเลือดออกจามไรฟัน โดยช่วงนี้อาจจำเป็นต้องหาเสื้อชั้นในขนาดใหญ่ขึ้น ผิวหน้าจะมันขึ้นเนื่องจากต่อมไขมันมีการสร้างไขมันเพิ่มขึ้น และอาจพบว่ามือเท้าบวมเล็กน้อยเนื่องมาจากการคั่งน้ำบวมน้ำ  

สำหรับขนาดของหน้าท้องจะโตขึ้นจนเห็นได้ชัด มดลูกมีเลือดมาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้นเป็น 5 เท่า มดลูกและรกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ปริมาณน้ำคร่ำก็จะมีมากขึ้น ภายในถุงน้ำคร่ำ ทารกจะถูกล้อมรอบด้วยน้ำคร่ำ ซึ่งจะช่วยให้ทารกลอยไปมาเพื่อให้ทารกสามารถเคลื่อนไหว เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่คุณแม่ควรทำใน สัปดาห์ที่ 17 คือรับประทานอาหารให้เหมาะสมต่อไป เพราะลูกต้องการสารอาหารมากชนิดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมีข้อควรระวังคือการทรงตัวอาจจะไม่ดี เพราะรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องพยายามดูแลตัวเองอย่าให้หกล้มหรือได้รับการกระทบกระเทือนแรงๆ และคุณแม่บางรายอาจมีอาการขี้ลืมเกิดขึ้น แนะนำให้พกกระดาษกับปากกาเพื่อจดบันทึกสิ่งต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้แพทย์อาจจะนัดตรวจร่างกายคุณแม่อีกครั้ง โดยเฉพาะการตรวจเลือด เพื่อเช็คดูอาการของโรคต่างๆ ที่สามารถส่งต่อมายังทารกในครรภ์