รวมสิทธิเกี่ยวกับประกันสังคมและกฏหมายแรงงานที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องรู้

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/รวมสิทธิเกี่ยวกับประกันสังคมและกฏหมายแรงงานที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องรู้
รวมสิทธิเกี่ยวกับประกันสังคมและกฏหมายแรงงานที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องรู้

ในส่วนของคุณแม่ ตั้งครรภ์ ที่มีงานประจำ เสียภาษีและเสียค่าประกันสังคม หลายคนอาจไม่ทราบว่า กรมแรงงานกับสำนักงานประกันสังคม มีการให้สิทธิต่างๆ กับผู้ตั้งครรภ์มากมาย ดังนั้นมาดูกันดีกว่าว่ามีสิทธิ์อะไรบ้างที่คุณแม่กับครอบครัวควรรู้ไว้ จะได้ไม่เสียประโยชน์

เริ่มต้นกันด้วยสิทธิการลา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขพระราชบัญญัติเดิม ระบุให้ สิทธิลาเพื่อคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 98 แปดวัน โดยหมายความรวมถึงวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรด้วย โดยยังได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงาน แต่ไม่เกิน 45 วัน, ได้รับค่าชดเชยใหม่กรณีเลิกจ้างจะเพิ่มเป็น 6 อัตราจาก 5 อัตรา คือ อัตราที่ 1 ลูกจ้างที่ทำงานมาครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้ค่าชดเชย 30 วัน อัตราที่ 2 ลูกจ้างหากทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้ค่าชดเชย 90 วัน อัตราที่ 3 ลูกจ้างทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน อัตราที่ 4 ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินชดเชย 240 วัน อัตราที่ 5 ลูกจ้างทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้เงินชดเชย 300 วัน และอัตราที่ 6 ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินชดเชย 400 วัน เป็นต้น

สำหรับกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด คุณแม่สามารถไปร้องเรียนได้ที่สำนักงานแรงงานจังหวัด กระทรวงแรงงาน ได้ตามกฏหมาย

ด้านสิทธิ์จากประกันสังคม นอกจากนี้คุณแม่ยังมีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากทางประกันสังคม โดยทางประกันสังคมจะเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของเงินเดือนเฉลี่ย 90 วัน (คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท) หรือในกรณีที่คุณแม่ได้เงินเดือนมากกว่า 15,000 บาท ทางสำนักงานประกันสังคมก็จะคิดเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาทเช่นกัน อาทิ คุณแม่มีเงินเดือน 20,000 บาท ก็จะได้เงินสงเคราะห์การหยุดงาน 50% ของเงินเดือน แต่ต้องคิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท คือ 15,000 x 3 เดือน (90 วัน) x 0.5 เท่ากับ 22,500 บาท

แต่ในกรณีที่ 2 นี้ คุณแม่จะต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ และจะได้รับเงินสงเคราะห์เฉพาะการคลอดบุตรไม่เกิน 2 คนเท่านั้นนะคะ หากเป็นการคลอดบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณแม่มาทำงานก่อนโดยไม่รอให้ครบ 90 วัน ก็ยังคงได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคมเต็มจำนวน 90 วัน แถมคุณแม่ก็จะได้รับค่าจ้างตามปกติต่างหากในวันที่คุณแม่มาทำงานด้วย ดังนั้นคุณแม่ต้องวางแผนเรื่องการลาให้ดี

ขณะเดียวกัน ยังมีอีกสิทธิ์ที่หลายคนมองข้าม นั้นก็คือสิทธิ์การรักษาฟรีจากการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ หากผู้ประกันตนเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาลที่เลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่สามารถเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน หลังจากนั้น ให้ญาติหรือผู้เกี่ยวข้องรีบแจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิโดยด่วน เพื่อรับตัวไปรักษาต่อและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย โดยนับตั้งแต่เวลาที่โรงพยาบาลได้รับแจ้งจนกว่าจะสิ้นสุด

ส่วนค่ารักษาที่เกิดขึ้นก่อนหน้า สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบที่เกิดขึ้นใน 3 วันแรก ไม่นับรวมวันหยุดราชการ ตามเกณฑ์และอัตราที่กำหนด เมื่อคุณแม่เจ็บป่วย คุณแม่สามารถเดินทางไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิของตนเอง เมื่อไปถึงเพียงยื่นบัตรประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่ก็ได้สิทธิเข้ากับการรักษาในทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น