ตั้งครรภ์ แล้วหัวนมดำ ทำไงดี

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ตั้งครรภ์ แล้วหัวนมดำ ทำไงดี
ตั้งครรภ์ แล้วหัวนมดำ ทำไงดี

หน้าอกนับเป็นอวัยวะส่วนสำคัญของผู้หญิง การ ตั้งครรภ์ ทำให้ผู้หญิงต้องทนเห็นร่างกายเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก ไหนจะเอวหนา หน้าอกขยาย แถมยังมีปัญหาหัวนมดำมาทำให้รำคาญใจอีกต่างหาก ว่าแต่ท้องแล้วทำไมหัวนมต้องดำ แล้วจะมีโอกาสกลับมาสีจางเหมือนเดิมไหม และที่สำคัญหัวนมดำทำยังไงดี

ทำไมหัวนมจึงดำตอนตั้งครรภ์

หลังจากที่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 3 เดือน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งออกมา ทำให้ต่อมในเต้านมขยายเพื่อเตรียมตัวที่จะผลิตน้ำนมในอนาคต คุณผู้หญิงอาจรู้สึกเจ็บเต้านม เต้านมและหัวนมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีตุ่มรอบลานนมที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้ทารกดูดนมได้ง่ายขึ้น และที่สำคัญก็คือฮอร์โมนชนิดเดียวกันนี้ทำให้ผิวหนังของคุณแม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เนื่องจากร่างกายส่วนนั้นผลิตเมลานินมากขึ้น บริเวณที่มักจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ เช่น ขาหนีบ รักแร้ และหัวนม

หัวนมดำจะหายได้ไหม

หัวนมดำแม้จะเป็นสิ่งที่น่ารำคาญใจ แต่มันไม่คงอยู่กับคุณแม่ถาวร เพราะหลังจากที่คุณแม่คลอดน้อง และให้นมน้อง จนกระทั่งถึงเวลาที่น้องหย่านมไปแล้วสัก 1-2 เดือน หัวนมก็จะกลับมาเป็นสีเดิมก่อนการตั้งครรภ์

หัวนมดำอันตรายหรือเปล่า

การที่หัวนมของคุณแม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำในขณะตั้งครรภ์หรือเป็นอยู่ต่อไปจนหมดระยะให้นมบุตร เกิดจากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตน้ำนมตามธรรมชาติ จึงไม่มีอันตรายใดๆ ทว่าคุณแม่ก็ต้องหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากหัวนมของคุณแม่เปลี่ยนแปลงสภาพไป เช่น ลอก แสบคัน มีผื่นขึ้น คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้น ยิ่งถ้าคุณแม่มีอาการหัวนมอักเสบ กล่าวคือ หัวนมปวด บวม แดง คุณแม่ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนเพราะอาจเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคพาราเจทเต้านม (มะเร็งเต้านมที่เกิดขึ้นที่หัวนม) ก็เป็นได้

ตั้งครรภ์แล้วหัวนมดำ ทำยังไงดี

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าหัวนมดำในหญิงมีครรภ์เป็นเรื่องปกติ ถึงกระนั้นก็มีวิธีการดูแลรักษาที่จะช่วยให้หัวนมคล้ำน้อยลง ดังนี้

1.ล้างหัวนมด้วยน้ำอุ่น เพราะน้ำอุ่นช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ไม่คั่งอยู่เฉพาะทาหัวนม

2.ใช้โลชั่นทาหัวนมหลังอาบน้ำ เนื่องจากสบู่และน้ำอุ่นอาจทำให้ผิวหนังบริเวณหัวนมสูญเสียความชุ่มชื้นจนเกิดอาการคันจึงควรคืนความชุ่มชื้นให้ผิวบริเวณนี้ด้วยการทาโลชั่น วิธีนี้ให้ใช้เฉพาะในขณะตั้งครรภ์ หากคลอดและกำลังให้นมบุตรห้ามใช้วิธีนี้

3.ใช้เสื้อชั้นในผ้าฝ้ายหรือผ้าอื่นๆ ที่อากาศถ่ายเทได้ดี

คุณแม่ที่หัวนมคล้ำในไตรมาสที่ 1 และ 2 สามารถล้างและดึงหัวนมเพื่อป้องกันหัวนมยุบตัวหรือหัวนมสั้นได้ แต่หากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เกิน 7 เดือนแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการกระตุ้นที่หัวนม เพราะอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์แก่ เพียงใช้เสื้อชั้นในที่ถ่ายเทอากาศดีก็พอ