
เมื่อ ตั้งครรภ์ โดยปกติแล้วน้ำหนักของคุณแม่จะต้องเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 กิโลกรัมในช่วงไตรมาสแรก และขึ้น 0.4-0.5 กิโลกรัมทุกๆสัปดาห์ ในไตรมาสที่สองและสาม หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวขึ้นน้อยประกอบกับความสูงของมดลูกน้อย อาจเป็นไปได้ว่าคุณกำลังประสบปัญหาทารกในครรภ์ตัวเล็กเกินไปแล้วล่ะค่ะ
ทารกตัวเล็กคืออะไร
ภาวะทารกตัวเล็กคือภาวะที่ทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อยกว่า 10% ของน้ำหนักมาตรฐานทารกในช่วงอายุครรภ์นั้นๆ ในการอัลตร้าซาวด์ในโรงพยาบาลชั้นนำ เครื่องอัลตร้าซาวด์จะคำนวณน้ำหนักโดยประมาณของทารกได้
ทารกที่ตัวเล็กกว่าเกณฑ์ถึง 10% นั้นอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1.คุณแม่ใช้ยาบางชนิดรักษาโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน
2.คุณแม่รับสารพิษหรือสารเสพติด เช่น คุณแม่หรือคุณพ่อสูบบุหรี่ คุณแม่ดื่มสุรา คุณแม่เสพสารคาเฟอีนเป็นจำนวนมาก
3.ลูกพิการหรือมีพันธุกรรมผิดปกติ
4.ลูกแฝดอาจรับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ
5.รกเสื่อมก่อนกำหนด
6.ติดเชื้อที่รก
7.รกเกาะผิดตำแหน่ง
วิธีการรักษา
แนวทางการรักษาโดยทั่วไป คือ คุณหมอจะทำทุกอย่างเพื่อรักษาทารกให้อยู่ในครรภ์นานที่สุด และมีสุขภาพดีที่สุด เนื่องจากเด็กตัวเล็กในบางครั้งอาจมีปัญหาสุขภาพ แต่หากคุณหมอวางแผนการดูแลให้คุณแม่ทำตามอย่างเคร่งครัด ลูกแม่ยังมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์แต่ก็สามารถคลอดออกมามีระบบประสาท สมอง ร่างกายและสุขภาพโดยรวมเป็นปกติได้
วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์
1.นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การที่คุณแม่หลับดีจะช่วยให้ลูกหลับดีเช่นกัน การที่ทารกในครรภ์พักผ่อนอย่างเพียงพอจะส่งผลต่อการเจริญเติบโต ช่วยให้เด็กมีน้ำหนักและความยาวตัวเพิ่มมากขึ้น
2.เน้นอาหารโปรตีนที่หลากหลาย คุณแม่ควรงดอาหารให้พลังงานสูง เช่น น้ำอัดลมและแป้งแปรรูป แต่ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่โดยเน้นโปรตีนที่หลากหลายจากสัตว์หลายชนิด ไม่ควรรับประทานโปรตีนชนิดเดียว เช่น รับประทานแต่ไข่ไก่อย่างเดียว
3.ออกกำลังกาย คุณแม่ควรเล่นโยคะหรือการบริหารสำหรับหญิงมีครรภ์เพราะนอกจากจะช่วยให้คุณแม่มีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกให้แข็งแรง ทารกจะดึงสารอาหารไปเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและกระดูกมากขึ้น
4.ห่างไกลความเครียดและสารเสพติด ทั้งความเครียดและสารเสพติดส่งผลให้ทารกตัวเล็กได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ควรผ่อนคลายอารมณ์และงดสารเสพติด เช่น เหล้าและบุหรี่อย่างเด็ดขาด
ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นวิธีเพิ่มน้ำหนักในกรณีทั่วไปเท่านั้น หากทารกน้ำหนักตัวน้อยเพราะสภาพของรก เช่น รกเสื่อมก่อนกำหนด คุณหมอจะให้คุณแม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อประเมินสภาพและดูแลทารก หากถึงกำหนดที่จะคลอดได้ คุณหมอจะพิจารณาให้คลอดก่อนกำหนด