ทำความรู้จักกับภาวะโรคซึมเศร้าระหว่าง ตั้งครรภ์

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ทำความรู้จักกับภาวะโรคซึมเศร้าระหว่าง ตั้งครรภ์
ทำความรู้จักกับภาวะโรคซึมเศร้าระหว่าง ตั้งครรภ์

การที่คุณแม่ ตั้งครรภ์ มีอารมณ์แปรปรวน นับเป็นเรื่องปกติ อาจดีใจ เสียใจ เศร้า เหงาบ้างเป็นพักๆ สลับกันไป เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เปลี่ยนไปนั่นเอง ทว่าเมื่อไหร่คุณแม่ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าแล้วละก็ นั่นไม่ใช่เรื่องปกติ ทว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์เลยทีเดียว
อารมณ์แปรปรวนกับซึมเศร้าต่างกันอย่างไร

อารมณ์แปรปรวนของคุณแม่ มักเป็นอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวเสียใจ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเศร้า สำหรับความเศร้าที่มาเป็นพักๆ สลับกับอารมณ์อื่นๆ ยังถือว่าเป็นภาวะปกติ ไม่ใช่ภาวะซึมเศร้า ในทางตรงกันข้ามภาวะซึมเศร้า คือ ความรู้สึกเศร้าที่คงอยู่เป็นเวลานาน เศร้าจนหมดแรงจะดำเนินชีวิต ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ตนเองทำ และไม่ใส่ใจต่อสิ่งรอบข้าง กระทั่งถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร

สาเหตุหลักๆ ของโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์คือฮอร์โมน แต่อาจมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ได้แก่

1.คุณแม่มีความเครียดหรือความกังวล เช่น กลัวแท้ง กังวลเรื่องงาน

2.ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไม่ดี เช่น คุณพ่อไม่เข้าใจคุณแม่ หรือทะเลาะกันบ่อย

3.เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าขณะมีประจำเดือน หรือซึมเศร้าหลังคลอดครรภ์ที่แล้ว

4.คุณแม่ต้องผ่านช่วงชีวิตที่เจ็บปวดมา โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เพราะถูกคุกคามทางเพศ หรือถูกทารุณกรรมอื่นๆ มักป่วยเป็นโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ส่งผลกระทบอย่างไรต่อทารก
โดยปกติแล้วโรคซึมเศร้าไม่ได้ส่งผลต่อร่างกายและพัฒนาการของทารกโดยตรง แต่เนื่องจากโรคซึมเศร้าทำให้คุณแม่ไม่ใส่ใจตัวเอง ไม่ใส่ใจทารกในครรภ์ ตลอดจนทำให้คุณแม่พักผ่อนน้อย รับประทานอาการไม่ลง จึงส่งผลให้ทารกได้รับอาหารไม่เพียงพอจนตัวเล็ก มีน้ำหนักน้อย และร่างกายอ่อนแอได้
เมื่อรู้ว่าซึมเศร้าควรทำอย่างไร

1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้ร่างหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขและลดฮอร์โมนแห่งความเครียดลง

2.รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 จะช่วยลดภาวะซึมเศร้าลงได้

3.ทำกิจกรรมที่ทำให้ตัวเองอารมณ์ดี เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ฟังเพลงความหมายดีๆ รับประทานของหวานบ้าง แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะอาจทำให้เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้

4.คุณแม่ควรยอมรับว่าตัวเอกำลังป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและยอมเปิดใจให้คนในครอบครัวเข้ามาเยียวยาทางด้านความรู้สึกมากขึ้น

5.หากมีอาการติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาเรื่องนี้โดยตรง

โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ แม้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่และทารกโดยตรง แต่ส่งผลให้คุณแม่ต้องทนทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ ขาดการดูแลตัวเองจนส่งผลต่อสุขภาพของทารกได้ หากคุณแม่ท่านใดคิดว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ รีบดูแลตัวเอง เปิดในกับคนในครอบครัว และพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการนะคะ