คุณแม่ ตั้งครรภ์ มาป้องกันโรคขาอยู่ไม่สุขกันเถอะ

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/คุณแม่ ตั้งครรภ์ มาป้องกันโรคขาอยู่ไม่สุขกันเถอะ
คุณแม่ ตั้งครรภ์ มาป้องกันโรคขาอยู่ไม่สุขกันเถอะ

โรคขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) ขณะ ตั้งครรภ์ คือภาวะที่กล้ามเนื้อขา รวมถึงกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ เช่น แขน และนิ้ว เกิดการกระตุกขึ้น โดยไม่อาจควบคุมได้ อาการกระตุกนี้มักเกิดในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์กำลังนอนหลับ และอาจทำให้คุณแม่ต้องตกใจตื่นกลางดึกเสมอๆ ก่อนที่กล่าวถึงการป้องกัน คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงอาการและสาเหตุการเกิดเสียก่อน

อาการของโรคขาอยู่ไม่สุข

คุณแม่อาจรู้สึกถึงการกระตุกของกล้ามเนื้อ หรืออาจรู้สึกคล้ายกับมีอะไรบางอย่างเลื้อยขึ้นมาตามกล้ามเนื้อขาหรือแขน อาการมักเกิดขึ้นในช่วงเย็นหรือกลางคืน และขณะนอนหลับ โดยปกติแล้วผู้หญิงมีโอกาสการเกิดโรคมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าอยู่แล้ว สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกๆ 5 คนจะพบผู้ที่เป็นโรคขาอยู่ไม่สุข 1 คน โดยมักจะเป็นในไตรมาสที่สอง (6-9 เดือน) และอาการขาอยู่ไม่สุขระหว่างตั้งครรภ์นี้จะหายไปเองหลังจากการคลอดบุตร

โรคขาอยู่ไม่สุขเกิดจากอะไร

1.ความผิดปกติของสารสื่อประสาท การขาดสารสื่อประสาทที่เรียกว่าโดปามีน อาจทำให้เกิดโรคขาอยู่ไม่สุขได้

2.ความผิดปกติของเนื้อเยื่อประสาท การได้รับโฟเลตและวิตามินบีต่างๆ ไม่เพียงพอ อาจส่งผลต่อเนื้อเยื่อประสาททำให้เกิดการกระตุกได้

3.ได้รับสารกระตุ้นประสาท ในทางการแพทย์พบว่าการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น กาแฟ หรือรับประทานอาหารที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ช้อกโกแลต ทำให้เกิดการกระตุ้นประสาทซึ่งส่งเสริมให้เกิดโรคขาอยู่ไม่สุข

4.โลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก โรคโลหิตจางขณะตั้งครรภ์อาจเกิดจากการขาดโฟเลตหรือการขาดธาตุเหล็กก็ได้ แต่เฉพาะโลหิตจางเนื่องจากขาดธาตุเหล็กเท่านั้นที่ทำให้เกิดโรคขาอยู่ไม่สุข โดยในทางการแพทย์เรียกว่าขาอยู่ไม่สุขทุติยภูมิ

5.ไตทำงานหนัก เนื่องจากไตของคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า เนื่องจากต้องกรองของเสียจากร่างกายคุณแม่และลูกน้อย ในทางการแพทย์พบว่าโรคขาอยู่ไม่สุขในผู้ที่ไม่ตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ไม่อาจกรองของเสียออกจากเลือดได้หมด จึงเป็นไปได้สูงว่าโรคขาอยู่ไม่สุขในระหว่างตั้งครรภ์จะเกิดจากการที่ไตของคุณแม่ต้องทำงานหนัก

มาป้องกันโรคขาอยู่ไม่สุขกันเถอะ

1.รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้ม เพราะวิตามินซีจะส่งผลต่อการรวมตัวกันของโดปามีนในสมอง

2.รับประทานอาหารที่มีโฟเลต เช่น ผักใบเขียว และรับประทานยาโฟลิคตามแพทย์สั่ง

3.งดดื่มเครื่องดื่มและรับประทานอาหารที่มีคาเฟอีน

4.รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ และรับประทานยาเสริมธาตุเหล็กตามแพทย์สั่ง

5.ดื่มน้ำ 3 ลิตรต่อวันเพื่อช่วยให้ไตขับสารตกค้างในเลือดได้มากขึ้น

6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เนื่องจากมีรายงานว่าการออกกำลังกายจะช่วยควบคุมการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ดี

รู้อย่างนี้แล้วคุณแม่ตั้งครรภ์อย่าลืมป้องกันโรคขาอยู่ไม่สุข เพื่อการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพ