การ ตั้งครรภ์ ไข่ปลาอุกคืออะไร อันตรายหรือเปล่า

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/การ ตั้งครรภ์ ไข่ปลาอุกคืออะไร อันตรายหรือเปล่า
การ ตั้งครรภ์ ไข่ปลาอุกคืออะไร อันตรายหรือเปล่า

การ ตั้งครรภ์ ไข่ปลาอุก บางครั้งถูกเรียกว่าเนื้องอกรก โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ 1,000 คนอาจเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก 3 คน แม้เป็นอัตราที่ไม่สูงมาก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ควรรู้จัก เพราะมันอาจนำไปสู่อันตรายที่ไม่คาดฝันได้

ครรภ์ไข่ปลาอุกคืออะไร มีกี่ประเภท?

หลังจากที่ไข่ได้รับการผสมและฝังตัวลงในโพรงมดลูก เปลือกไข่ส่วนหนึ่งจะพัฒนาเป็นรก แต่หากเซลล์รกเจริญเติบโตผิดปกติ ก็จะเกิดเป็นเนื้องอกรก มีลักษณะเป็นถุงน้ำใสๆ คล้ายพวงไข่ของปลาอุก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.ไม่มีตัวอ่อน (Complete Molar Pregnancy) เมื่อเปลือกไข่พัฒนาเป็นเนื้องอกรกแล้ว ไม่มีการพัฒนาส่วนอื่นๆ เป็นตัวอ่อนด้วย โดยครรภ์ไข่ปลาอุกแบบไม่มีตัวอ่อนมีจำนวนร้อยละ 95 ของการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกทั้งหมด

2.มีตัวอ่อน (Partial Molar Pregnancy) เป็นกรณีที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตไปพร้อมกับเนื้องอกรก ทว่าพอถึงจุดหนึ่งตัวอ่อนจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพราะขาดการลำเลียงน้ำและอาหารจากรก การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกแบบมีตัวอ่อน อาจเกิดกับแฝด โดยแฝดคนหนึ่งมีเนื้องอกรก และอีกคนมีรกที่ปกติ กรณีนี้ตัวอ่อนที่สมบูรณ์มักจะตายไปด้วยเช่นกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นครรภ์ไข่ปลาอุก

1.แพ้ท้องมากกว่าปกติ เพราะรกผลิตฮอร์โมน HCG สูงมากเกินไป

2.มีเลือดออกในช่วงสัปดาห์ที่ 4-12 ของการตั้งครรภ์

3.อาจมีเนื้องอกสีขาวกลมคล้ายไข่ปลาออกมาพร้อมเลือด

4.ปวดท้องกะทันหันและท้องบวม

5.ครรภ์เป็นพิษก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ซึ่งปกติแล้วครรภ์เป็นพิษมักจะเกิดในสัปดาห์ที่ 24 เป็นต้นไป

6.มีอาการต่อมไทรอยด์เป็นพิษ

ครรภ์ไข่ปลาอุกอันตรายหรือเปล่า

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก หากเป็นแบบที่มีตัวอ่อน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องเสียทารกในครรภ์ไป ส่วนในด้านร่างกายของคุณแม่ ครรภ์ไข่ปลาอุกอาจก่อให้เกิดอันตรายดังนี้

1.ตกเลือด คุณแม่อาจมีเลือดออกทีละน้อยๆ จนเป็นโลหิตจาง หรือมีเลือดออกครั้งเดียวมากๆ จนนำไปสู่สภาวะช็อก

2.ลุกลามสู่กล้ามเนื้อมดลูก หากเนื้องอกรกลุกลามเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก อาจทำให้มีเลือดออกตลอดเวลา จนต้องตัดมดลูกเพื่อรักษาชีวิตของคุณผู้หญิงเอาไว้

3.พัฒนาเป็นมะเร็งไข่ปลาอุก หลังจากการรักษาครรภ์ไข่ปลาอุกมีโอกาสสูงที่จะเกิดมะเร็งไข่ปลาอุกซึ่งจะเกิดในโพรงมดลูกและอาจลุกลามไปส่วนอื่นๆ เช่น ปอด ตับ และปากช่องคลอด หลังการขูดมดลูกเพื่อรักษาเนื้องอกรก แพทย์จะต้องติดตามอาการด้วยการตรวจดูระดับฮอร์โมนทุกๆ เดือน เป็นระยะเวลา 1 ปี มะเร็งไข่ปลาอุกรักษาได้ด้วยเคมีบำบัด เป็นมะเร็งที่พบเร็วและมีอัตราการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตต่ำมาก