การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร
การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร

การตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก เกิดจากโครโมโซมที่ผิดปกติของไข่หรืออสุจิ ทำให้รกเกิดเนื้องอกคล้ายพวงไข่ของปลาอุกในโพรงมดลูก เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นแล้ว คุณหมอจะทำการรักษา ดังนี้

การรักษาครรภ์ไข่ปลาอุก

1.ควบคุมภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมักจะมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง แพทย์จะต้องให้ยาเพื่อควบคุมภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเสียก่อนจึงจะทำการรักษาต่อไป

2.ยุติการตั้งครรภ์ ครรภ์ไข่ปลาอุกแม้มีตัวอ่อน แต่เป็นตัวอ่อนที่มีโครโมโซมเกิน อย่างไรเสียก็ต้องเสียชีวิต ดังนั้นการรักษาจะทำโดยการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้

2.1 ดูดเนื้อเยื้อโพรงมดลูก คุณหมอจะใช้เครื่องดูดสุญญากาศดูดเนื้องอกรกและเนื้อเยื่อโพรงมดลูกออก วิธีนี้นิยมทำกันมากเพราะเสียเลือดน้อยกว่าการขูดมดลูก

2.2 ขูดมดลูก เป็นการใช้เหล็กแหลมที่เรียกว่า Dilatation and Curettage สอดเข้าไปขูดในโพรงมดลูก วิธีนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในโพรงมดลูกหรือมดลูกทะลุได้ โดยองค์กรอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้วิธีดูดเนื้อเยื่อแทน การขูดมดลูกในปัจจุบันจึงมักใช้ร่วมกับการดูดเนื้อเยื่อเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีเนื้องอกหลงเหลืออยู่เท่านั้น

2.3 การตัดมดลูกออก จะใช้ในกรณีที่มีการตกเลือดมากและไม่อาจทำให้เลือดหยุดได้ จนอาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่ หรือมดลูกทะลุ หรือมีเนื้องอกจำนวนมากเกินกว่าที่จะรักษามดลูกเอาไว้ได้ นอกจากนี้หากเนื้องอกเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง คุณหมอก็จะพิจารณาตัดมดลูกออกด้วยเช่นกัน

3.การป้องกันมะเร็งเนื้อรก เนื่องจากการเนื้องอกรกอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งเนื้อรกได้ หากคุณหมอพิจารณาแล้วว่ามีโอกาสกลายเป็นมะเร็ง เช่น หลังจากยุติการตั้งครรภ์แล้ว ฮอร์โมน HCG ยังสูง คุณหมอจะรักษาด้วยการทำเคมีบำบัด หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น คุณหมอจะรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี

การติดตามผล

1.การตรวจฮอร์โมน HCG ในการดูดเนื้อเยื่อหรือขูดโพรงมดลูก หากมีเนื้องอกหลงเหลืออยู่ เนื้องอกอาจพัฒนาไปเป็นมะเร็งได้ โดยอาการเริ่มแรก คือ มีฮอร์โมน HCG สูง เพราะฮอร์โมนดังกล่าวคือฮอร์โมนที่เกิดจากรกตกค้างนั่นเอง การตรวจฮอร์โมนจะต้องตรวจทุกสัปดาห์ หากตรวจพบว่าฮอร์โมนลดลงแล้ว 3 ครั้ง จึงจะขยับเป็นตรวจฮอร์โมนทุกๆ 1 เดือนเป็นเวลา 1 ปี

2.คุมกำเนิด ผู้ที่ตั้งครรภ์ไข่ปลาอุกมีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นเนื้องอกรกหรือมะเร็งเนื้อรกอีก จึงต้องคุมกำเนิดเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ด้วยวิธีรับประทานยาคุมกำเนิดและใช้ถุงยางอนามัยเท่านั้น เนื่องจากอาการของมะเร็งไข่ปลาอุกที่สังเกตได้ง่าย คือ มีเลือดออก ในขณะเดียวกันการคุมกำเนิดด้วยการฉีดยาคุมกำเนิดและการใส่ห่วงอนามัยก็อาจทำให้มีเลือดออกได้เช่นกัน การคุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจึงทำให้คุณผู้หญิงไม่อาจทราบว่าเลือดที่ออกมาเกิดจากมะเร็งหรือการคุมกำเนิด