โรคปากมดลูกไม่แข็งแรงขณะตั้งครรภ์

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/โรคปากมดลูกไม่แข็งแรงขณะตั้งครรภ์
โรคปากมดลูกไม่แข็งแรงขณะตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์ โรคปากมดลูกไม่แข็งแรง (Cervical insufficiency) เรียกกันหลายชื่อ บ้างเรียกโรคปากมดลูกปิดไม่สนิท บ้างเรียกปากมดลูกเปิดง่าย โรคนี้เป็นโรคที่ในภาวะปกติจะไม่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของคุณผู้หญิงเลย แต่กลับส่งผลอย่างมากหากคุณผู้หญิงเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา โดยอาจส่งผลร้ายแรงให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้

โรคปากมดลูกไม่แข็งแรงคืออะไร

แม้การตั้งครรภ์จะเกิดในโพรงมดลูกแต่ปากมดลูกก็ต้องทำหน้าที่รองรับน้ำหนักตัวของทารกและถุงน้ำคร่ำที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ในผู้ที่มีปากมดลูกไม่แข็งแรง ปากมดลูกจะพยุงน้ำหนักของครรภ์เอาไว้ไม่ไหว ทำให้ปากมดลูกเปิดและเกิดอาการน้ำเดิน (ถุงน้ำคร่ำแตก) ส่งผลให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้

สาเหตุที่ปากมดลูกไม่แข็งแรง

1.เหตุธรรมชาติ

1.1 ความผิดปกติของปากมดลูกเอง เป็นความผิดปกติที่มีมาตั้งแต่เกิดของคุณผู้หญิง ทำให้ปากมดลูกปิดไม่สนิท หรือไม่แข็งแรงพอจะรองรับน้ำหนักครรภ์ได้

1.2 คลอดธรรมชาติหลายท้อง การคลอดบุตรตามธรรมชาติ ปากมดลูกจะต้องเปิดออกเพื่อให้ทารกเคลื่อนตัวออกมา เมื่อคลอดบุตรติดต่อกันหลายคน ก็อาจทำให้ปากมดลูกปิดไม่สนิทได้

1.3 ท้องแฝด เนื่องจากการตั้งครรภ์ลูกแฝด ครรภ์ย่อมมีน้ำหนักมาก อีกทั้งยังมีความดันในโพรงมดลูกสูง จึงทำให้ปากมดลูกไม่อาจรับน้ำหนักครรภ์ได้

2.โรค

2.1 ติดเชื้อ การติดเชื้อที่ปากมดลูก ตลอดจนการติดเชื้อที่เยื่อบุมดลูก ล้วนแล้วแต่มีโอกาสทำให้ปากมดลูกอักเสบและไม่แข็งแรงได้

2.2 ภาวะน้ำคร่ำมาก เป็นภาวะที่คุณแม่มีน้ำคร่ำในครรภ์มากผิดปกติ กล่าวคือ เกินเกินเปอร์เซนไตล์ที่ 95 ของปริมาณน้ำคร่ำปกติในแต่ละอายุครรภ์

3.การทำหัตถการที่ปากมดลูก การทำหัตถการที่ปากมดลูกบ่อยครั้งทำให้ปากมดลูกไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการทำหัตถการช่วยคลอดในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า เช่น การช่วยคลอดด้วยคีม ตลอดจนการทำหัตถการอื่นๆ ที่ปากมดลูก เช่น การตัดปากมดลูกเป็นรูปกรวยเพื่อนำไปตรวจหามะเร็งปากมดลูก

วิธีการรักษาโรคปากมดลูกไม่แข็งแรง

โรคปากมดลูกไม่แข็งแรงเป็นโรคที่ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ คุณหมอทำได้อย่างเดียวคือเย็บปากมดลูกให้แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักครรภ์ไปจนกว่าจะถึงกำหนดคลอด โดยคุณหมอจะนัดเย็บปากมดลูกให้เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 14-16 สัปดาห์ หลังจากเย็บปากมดลูกแล้ว คุณแม่ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในไตรมาสที่ 3 และควรดูแลร่างกายให้มีน้ำหนักตามเกณฑ์ ไม่พุ่งสูงมากจนเกินไป ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อครบกำหนดคลอด หรือในทันทีที่น้ำเดิน คุณแม่ต้องรีบมาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตัดไหมออกก่อนเจ็บครรภ์คลอด เพราะหากมดลูกบีบตัวแล้วไหมยังยึดปากมดลูกอยู่ อาจทำให้มดลูกแตกได้