รู้หรือไม่ อารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อลูก!

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/รู้หรือไม่ อารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อลูก!
รู้หรือไม่ อารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ส่งผลต่อลูก!

คุณแม่อาจจะพอทราบมาบ้างว่าอารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อลูก แต่เมื่อถามต่อว่าส่งผลอย่างไร คุณแม่ส่วนใหญ่กลับไม่ทราบ วันนี้ทางเราจึงรวบรวมผลกระทบต่อทารกที่เกิดจากอารมณ์ของคุณแม่ ทั้งเครียด ไม่พอใจ และซึมเศร้า มาเล่าสู่กันฟัง

1.เครียด

ความเครียดทำให้ร่างกายของคุณแม่สร้างฮอร์โมน Epinephrine และ Norepineprine ส่งผลให้หลอดเลือดหดตัว เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงมดลูกได้อย่างเต็มที จึงอาจเกิดภาวะแท้งคุกคาม หรือเด็กตายในท้องได้

นอกจากนี้ในสภาวะความเครียดร่างกายของคุณแม่จะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อ Corticotrophin Releasing Hormone (CRH) ออกมาด้วย ฮอร์โมนตัวนี้ทำให้เกิดการเจ็บครรภ์คลอด ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดและทารกมีน้ำหนักตัวน้อย เมื่อคลอดมาแล้วทารกอาจหายใจลำบาก มีเลือดออกในสมอง สมองพิการ และเสี่ยงต่อลำไส้เน่าอีกด้วย

เนื่องจากทารกต้องปรับตัวเพื่อรองรับภาวะฮอร์โมนแห่งความเครียดสูง เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วอาจมีอาการเครียดได้ง่าย ผวาและปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมได้ยาก ลูกจึงร้องไห้เก่ง

2.ไม่พอใจ

คุณแม่ขี้หงุดหงิด ขี้เหวี่ยงวีน อาจทำให้ลูกเกิดมาเป็นเด็กที่มีสมาธิสั้นเพราะฮอร์โมนที่เกิดจากอารมณ์หงุดหงิดของคุณแม่ ทำให้ทารกในครรภ์ขาดสมดุลของสารสื่อประสาท จนเกิดภาวะสมาธิสั้นได้มากพอๆ กับการที่คุณแม่รับสารพิษและมลภาวะเป็นประจำเลยทีเดียว อาการหงุดหงิดของคุณแม่โดยมากจะเป็นในระยะสั้นๆ เพียงไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่สองเท่านั้น แต่หลังจากนั้นความหงุดหงิดนี้มักจะลดลง ทารกที่อายุครรภ์เกิน 6 เดือนสามารถรับรู้ความรู้สึกของแม่ได้ ไม่ใช่แค่ฮอร์โมนหรือสารเคมีที่ผ่านเข้ามาทางเลือด แต่เขาเข้าใจจริงๆ ว่าแม่รู้สึกอย่างไร ตรงนี้ทำให้เด็กเลียนแบบอารมณ์ของคุณแม่ และเมื่อคลอดออกมาก็จะเป็นเด็กที่หงุดหงิดง่ายไปด้วย

3.ซึมเศร้า

ซึมเศร้ากับความเศร้าไม่เหมือนกัน ถ้าคุณแม่รู้สึกอ่อนไหวเป็นพักๆ มีร้องไห้บ้างประปราย นั่นคือความเศร้า ความเศร้าความเศร้าจะส่งผ่านไปยังลูกและทำให้เป็นเด็กที่มีอารมณ์แปรปรวนได้

ส่วนซึมเศร้า คือ โรคชนิดหนึ่งที่ทำให้คุณแม่รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง กระทั่งอยากตายในที่สุด ภาวะซึมเศร้าไม่ได้คงอยู่แค่ไม่กี่นาทีเหมือนความเศร้า แต่จะอยู่กับคุณแม่นานทุกวันทั้งวัน เป็นเดือนๆ โรคซึมเศร้าขณะตั้งครรภ์ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเชื่อมโยงกับลูกน้อยลง ทำให้ลูกไม่ตระหนักในความสำคัญของตนเอง และมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นไปเป็นวัยรุ่นที่เกรี้ยวกราดหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าปกติ

เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอารมณ์แปรปรวน แต่หากคุณแม่รู้เท่าทันอารมณ์ พยายามผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด ก็จะกำจัดทั้งความเครียด ความไม่พอใจ และความเศร้าลงไปได้ ส่วนโรคซึมเศร้าหากรู้สึกว่ายากจะรับมือควรปรึกาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที อย่าปล่อยให้ลูกต้องทนรับกับภาวะอารมณ์เหล่านั้นแต่เพียงลำพัง