การตั้งครรภ์กับภาวะรกเกาะต่ำ

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/การตั้งครรภ์กับภาวะรกเกาะต่ำ
การตั้งครรภ์กับภาวะรกเกาะต่ำ

2 ใน 3 ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่รกเกาะต่ำมักคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้รกเกาะต่ำยังอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของรก จนมีเลือดออกภายใน ซึ่งก่อผลเสียต่อสุขภาพทั้งของแม่และลูก รกเกาะต่ำจึงเป็นอีกหนึ่งโรคที่อาจเกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์

รกเกาะต่ำคืออะไร

ในการตั้งครรภ์โดยปกติแล้ว เมื่อไข่ได้รับการผสมในท่อนำไข่ ไข่จะเคลื่อนตัวลงมาแล้วฝังตัวที่ส่วนบนของโพรงมดลูก แต่หากตัวอ่อนฝังตัวต่ำจนเกือบถึงขอบปากมดลูกด้านล่าง เมื่อเปลือกไข่ส่วนหนึ่งพัฒนาเป็นรก อาจจะเกิดภาวะรกเกาะต่ำขึ้นได้ โดยรกเกาะต่ำนี้มักจะตรวจพบและวินิจฉัยได้ในสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์

อันตรายของรกเกาะต่ำ

การที่รกเกาะใกล้กับปากมดลูก เมื่อใกล้กำหนดคลอด ปากมดลูกจะเปิด อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของรกและมีเลือดออกภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้คุณแม่เป็นโรคโลหิตจางได้ แต่หากเลือดออกรุนแรงมาก คุณแม่ก็อาจช็อกและเสี่ยงต่อชีวิต

ประเภทของรกเกาะต่ำ

  1. รกเกาะใกล้ปากมดลูก (Low-Lying Placenta Previa) รกเกาะห่างจากปากมดลูก 2-5 เซนติเมตร จัดเป็นรกเกาะต่ำชนิดที่รุนแรงน้อยที่สุด คุณแม่อาจมีเลือดออกก่อนคลอดเล็กน้อย หรือไม่มีเลือดออกเลย กรณีนี้คุณแม่ยังสามารถคลอดเองได้ หากไม่มีการฉีกขาดของรกก็ไม่ต้องกังวลเรื่องการคลอดก่อนกำหนด
  2. รกอยู่ขอบปากมกลูกด้านใน (Marginal Placenta Previa) ส่วนขอบของรกอยู่ชิดกับขอบปากมดลูก มีโอกาสสูงที่จะฉีกขาดขณะคลอด หากคลอดเองอาจทำให้เสียเลือดมาก จึงมีโอกาสสูงที่แพทย์จะพิจารณาผ่าคลอด
  3. บางส่วนของรกปิดคลุมปากมดลูก (Partial Placenta Previa) เนื่องจากบางส่วนของรกปิดคลุมปากมดลูก เมื่อปากมดลุกขยายเพื่อเตรียมตัวคลอด รกจะฉีกขาด ไม่ปิดคลุมปากช่องคลอด แต่จะเสียเลือดมาก จึงจำเป็นต้องผ่าคลอด
  4. รกทั้งหมดปิดคลุมปากมดลูก (Complete Placenta Previa) นับเป็นรกเกาะต่ำที่อันตรายมาก เพราะเมื่อปากมดลูกขยาย รกฉีกขาดแต่ก็ยังขวางปากมดลูกอยู่ดี รกเกาะต่ำชนิดนี้จะต้องผ่าคลอดเท่านั้น

อาการรกเกาะต่ำเป็นยังไง

  1. มีเลือดออก ก่อนไตรมาสที่ 3 อาจมีเลือดออกและหยุดเอง จากนั้น 2-3 วันก็จะมีเลือดออกมาอีก ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์หากมีเลือดออก มักจะไม่หยุดเอง แพทย์อาจต้องพิจารณาผ่าคลอดก่อนกำหนด
  2. มดลูกนุ่ม แม้จะมีเลือดออก แต่ท้องคุณแม่ยังนุ่ม ไม่แข็งเกร็ง
  3. ปวดท้อง ในบางกรณี หากมีการฉีกขาดของรก คุณแม่อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย

คุณแม่ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ จะต้องอยู่ในความดูแลของสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด หากมีเลือดออกต้องพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวคุณแม่เองและลูกน้อย