
โลหิตจางคือภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ มีเม็ดเลือดแดงเฉลี่ยน้อยกว่า 33% หรือ 12 g/dl การที่คุณแม่มีเม็ดเลือดแดงน้อยจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและถ้าคุณแม่มีค่าเม็ดเลือดแดงต่ำกว่า 11.5 g/dl ก็จะส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดได้ โลหิตจางขณะตั้งครรภ์จึงเป็นอีกหนึ่งโรคที่คุณแม่ควรทราบสาเหตุการเกิด เพื่อป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ
โรคโลหิตจางขณะตั้งครรภ์เกิดจากอะไร
- ขาดธาตุเหล็ก ร่างกายของคุณแม่ควรได้รับธาตุเหล็ก 60-70 มิลลิกรัมต่อวัน เพราะธาตุเหล็กเป็นธาตุที่ร่างกายดูดซึมได้เพียง 10% ของที่รับประทานเข้าไปเท่านั้น หากคุณแม่ฝากครรภ์ปกติจะได้รับยาเสริมธาตุเหล็กอยู่แล้ว หากคุณแม่ขาดธาตุเหล็กอย่างรุนแรงคุณหมอจะเสริมธาตุเหล็กให้มากขึ้นไปอีก เมื่อได้รับการเสริมธาตุเหล็กที่เหมาะสมแล้ว พัฒนาการของลูกน้อยจะกลับเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์
- ขาดโฟเลต หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับโฟเลตไม่เพียงพอจะเกิดอาการที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่แต่มีจำนวนน้อย คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับโฟเลต 600 ไมโครกรัมต่อวัน ในกรณีที่มีอาการโลหิตจางรุนแรงควรพบแพทย์เพื่อรับการฉีดโฟลิคที่มีปริมาณสูง
- ขาดวิตามินบี 12 วิตามินบี 12 ช่วยทำให้โฟเลต อยู่ในรูปที่พร้อมทำงาน หากร่างกายขาดวิตามินบี 12 ก็จะทำให้ร่างกายขาดโฟเลตทั้งๆ ที่รับประทานโฟเลตครบ และเป็นโลหิตจางได้ในที่สุด
- ภาวะเลือดออก การที่คุณแม่มีภาวะเลือดออกภายในร่างกาย เช่น รกเกาะต่ำและเกิดการฉีกขาดของรกทำให้มีเลือดออก อาจทำให้คุณแม่มีเม็ดเลือดแดงเฉลี่ยน้อยกว่ามาตรฐานได้ หากคุณแม่พบว่าตัวเองมีเลือดออก หรือเลือดจางทั้งๆ ที่ได้รับสารอาหารครบถ้วน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
- คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นธาลัสซีเมีย ธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หากคุณแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมียจะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นพาหะธาลัสซีเมีย 50% หากทั้งพ่อและแม่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นธาลัสซีเมียถึง 25%
- ความผิดปกติของไขกระดูก การที่ไขกระดูกหยุดผลิตเม็ดเลือดทำให้เกร็ดเลือดต่ำ เมื่อแรงดันของเลือดปะทะผนังหลอดเลือดอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดฝอย เกิดเป็นรอยช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุทั่วร่างกาย โรคนี้รักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขสันหลังเพียงทางเดียว ถึงกระนั้นก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้น้อย
การป้องกันโรคโลหิตจาง
รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับหมู รับประทานอาหารที่มีโฟเลตสูง เช่น ผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง น้ำส้มคั้น รับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 12 สูง เช่น เนื้อปลาและไข่ นอกจากนี้ยังควรตรวจคัดกรองธาลัสซีเมีย และฝากครรภ์ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทราบว่าตั้งครรภ์