ระวังโรคแทรกซ้อนในขณะ ตั้งครรภ์ ที่เสี่ยงอันตรายต่อคุณแม่และทารก

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/ระวังโรคแทรกซ้อนในขณะ ตั้งครรภ์ ที่เสี่ยงอันตรายต่อคุณแม่และทารก
ระวังโรคแทรกซ้อนในขณะ ตั้งครรภ์ ที่เสี่ยงอันตรายต่อคุณแม่และทารก

ในระหว่าง ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะไตรมาสไหนก็ตาม คุณแม่ล้วนมีอาการคนท้องผิดปกติหลากหลายอาการแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการบวมน้ำ ปวดขา ปวดท้องและปวดหลัง เป็นต้น แต่อาการหรือโรคหลักๆ ที่คุณแม่มักเป็นตอนตั้งครรภ์ก็มีด้วยกันดังนี้

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

ร่างกายคนท้องมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกาย จึงส่งผลต่อภาวะต้านอินซูลิน ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และหากคุณแม่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นด้วยแล้วก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลังคลอดแล้วระดับน้ำตาลจะกลับมาเป็นปกติ แต่ในอนาคตก็มีโอกาสกลับมาเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 7 เท่า

ซึ่งเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นก็เป็นผลมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถหลั่งสารอินซูลินออกมาได้อย่างเพียงพอจนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูง ดังนั้น เพื่อให้ขณะตั้งครรภ์มาพร้อมสุขภาพที่แข็งแรงปลอดภัย คุณแม่จึงต้องควบคุมน้ำตาลและควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมจะดีที่สุด

ความดันโลหิตสูง

ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการที่ทางการแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ก็สันนิษฐานได้ว่าคุณแม่ที่มีอาการของโรคดังกล่าวอาจมาจากอายุ, จำนวนครั้งในการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร, การตั้งครรภ์แฝด หรือเคยมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นความดันโลหิตสูงมาก่อน ซึ่งหากคุณแม่เป็นความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ก็อาจมีผลทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้เลยนั่นเอง

ภาวะครรภ์เป็นพิษ

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ช่วงวัยยังสาวหรืออายุมากกว่า 40 ปี ล้วนมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้สูงกว่าคนทั่วไปอย่างยิ่ง ซึ่งหากมีอาการหนักขึ้น ก็อาจส่งผลทำให้คุณแม่มีอาการชักได้ และการชักก็จะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารก อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวิธีรักษาก็มีอยู่ทางเดียวนั่นก็คือ คุณแม่ต้องคลอดบุตรเท่านั้น อาการครรภ์เป็นพิษจึงจะหายไป

นอกจากอาการเบื้องต้นดังกล่าวแล้ว ยังมีภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์อีกด้วย สาเหตุก็เพราะกระแสเลือดของร่างกายคุณแม่ไปหล่อเลี้ยงรกไม่พอ ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จนส่งผลทำให้ร่างกายมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ ตลอดจนส่งผลทำให้มีขนาดน้ำหนักตัวที่เล็กกว่าอายุครรภ์ทั่วไป หากอาการหนักมากก็เสี่ยงที่ทารกคลอดออกมาแล้วจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตค่อนข้างสูงด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อการป้องกันและดูแลสุขภาพในระหว่างตั้งครรภ์ให้สมบูรณ์แข็งแรง คุณแม่ควรพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติและหมั่นพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตามนัดอยู่เสมอจะดีที่สุด