โปรแกรมการตรวจครรภ์ที่คุณแม่ ตั้งครรภ์ ต้องตรวจ

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/โปรแกรมการตรวจครรภ์ที่คุณแม่ ตั้งครรภ์ ต้องตรวจ
โปรแกรมการตรวจครรภ์ที่คุณแม่ ตั้งครรภ์ ต้องตรวจ

คุณแม่ ตั้งครรภ์ เคยสงสัยหรือไม่ว่า คุณแม่จะมีพัฒนาการเจริญเติบโตของครรภ์เป็นอย่างไรในแต่ละสัปดาห์ เมื่อไปหาคุณหมอ คุณแม่จะได้รับตรวจร่างกายอะไรบ้าง ทำไมต้องไปตรวจตามกำหนด ถ้าเราผิดนัดเลยไม่ได้ไปตรวจจะเป็นอะไรหรือไม่ ก็ต้องขอฝากและเน้นย้ำกับคุณแม่ไว้เลยว่า คุณแม่จำเป็นต้องไปตรวจครรภ์ตามกำหนดอย่างยิ่ง เพื่อดูพัฒนาการเจริญเติบโตของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่อย่างไร เพราะการรับรู้อาการที่ผิดปกติล่วงหน้า สามารถรักษาอาการต่าง ๆ ได้ทัน โดยคุณหมอจะมีแผนการตรวจสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 3 โดยคุณหมอจะซักประวัติ และ ถามถึงโรคประจำตัว หรือคุณแม่มีอาการแพ้ยาใด ๆ บ้าง เคยได้รับการผ่าตัดใด ๆ มาก่อนหรือไม่ และ ตรวจคัดกรองอาการเบื้องต้นตามแต่ละไตรมาสดังนี้

ไตรมาสที่ 1 (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 14 สัปดาห์)

•ตรวจปัสสาวะ เลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
•ตรวจภายในมะเร็งปากมดลูก
•ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ (โรคตับอักเสบบี ซี โรคเอดส์ กามโรค คัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย)
•ตรวจเลือดมารดา เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์
•ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อคัดกรองความผิดปกติของทารก วัดความหนาของสันคอทารก กำหนดอายุครรภ์ จำนวนทารก วินิจฉัยแยกโรคตั้งครรภ์นอกมดลูก

ไตรมาสที่ 2 ( 15-28 สัปดาห์ )

•ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในรายที่มีความเสี่ยงสูง
•สำหรับคุณแม่อายุ 35 ปีขึ้น ต้องได้รับการ เจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจโครโมโมโซมของทารกในครรภ์
•ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อกำหนดเพศ ติดตามการเจริญเติบโตของทารก วัดความยาวปากมดลูก คัดกรองหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ และวินิจฉัยแยกโรครกเกาะต่ำ

ไตรมาสที่ 3 ( 29-42 สัปดาห์ ) คนท้องไตรมาสสุดท้าย
•ฉีดวัคซีนป้องกัน ไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
•ตรวจเลือดฝากครรภ์ครั้งที่ 2 ( ความเข้มข้นของเลือด โรคตับอักเสบบี โรคเอดส์ กามโรค)
•ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสในช่องคลอด
•ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อกำหนดส่วนนำของทารก คาดคะเนน้ำหนักทารก
•ตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ โดยติดเครื่องฟังเสียงหัวใจทารกครั้งละ 20 นาที

ตามขั้นตอนการตรวจทั้งสามไตรมาสนี้ คุณแม่ต้องได้รับการตรวจครรภ์ เป็นประจำ ทางที่ดีไม่ควรขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเด็ดขาด เพราะจะทำให้การตรวจครั้งต่อไปยากลำบากขึ้นกว่าเดิมและคุณแม่เองก็จะไม่ทราบอาการที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ได้เลย ส่วนการตรวจครรภ์วิธีอื่น หรือจะเลือกตรวจในขั้นตอนใด อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์ผู้ตรวจเป็นขั้นตอน ๆ ต่อไป