คุณแม่ ตั้งครรภ์ ร่างกายเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างนะ

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/คุณแม่ ตั้งครรภ์ ร่างกายเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างนะ
คุณแม่ ตั้งครรภ์ ร่างกายเปลี่ยนแปลงยังไงบ้างนะ

เนื่องจากตัวอ่อนในครรภ์มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง การ ตั้งครรภ์ จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายคุณแม่ตามไปด้วย และนี่คือร่างกายของคุณแม่ตั้งแต่เดือนที่ 1-9

เดือนที่ 1 ในเดือนที่ 1 นี้ คุณแม่อาจไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอะไรมาก อาจเจ็บจี๊ดที่ท้องน้อย เพราะตัวอ่อนฝังตัวในมดลูก บางครั้งอาจมีเลือดออกได้บ้างเล็กน้อย นอกจากนี้คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้องแต่ยังไม่มาก หน้าอกเริ่มเจ็บคัดได้บ้าง

เดือนที่ 2 รกของน้องพัฒนาขึ้นมากแล้ว และสร้างฮอร์โมน HCG ที่ทำให้คุณแม่แพ้ท้อง ยิ่งถ้าเป็นท้องแรกก็จะแพ้มากกว่าท้องถัดๆ ไป นอกจากอาการคลื่นเหียนวิงเวียน คุณแม่อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ อาการเจ็บคัดที่หน้าอกจะเพิ่มมากขึ้น และปัสสาวะบ่อยขึ้น

เดือนที่ 3 คุณแม่อาจมีอาการท้องผูก เพราะมดลูกขยายไปทับลำไส้ตรง อาการแพ้ท้องยังคงมีอยู่ แต่การปัสสาวะบ่อยและการเจ็บคัดเต้านมจะน้อยลง

เดือนที่ 4 ทารกฝังตัวแน่นหนาขึ้น ร่างกายจะเริ่มชินกับฮอร์โมนจากรกมากขึ้น ดังนั้นอาการแพ้ท้องจึงมักจะทุเลาลงในเดือนที่ 4 นี้ คุณแม่สามารถเริ่มออกกำลังกายเบาๆ ด้วยการเล่นโยคะหรือกายบริหารสำหรับคนท้องได้ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป และสามารถเริ่มทาครีมกันท้องลายได้ตั้งแต่เดือนที่ 4 เพื่อรองรับการขยายตัวของหน้าท้องที่จะเกิดขึ้นต่อไป

เดือนที่ 5 คุณแม่อาจหิวบ่อย จึงควรรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ และให้พลังงานไม่สูงจนเกินไป ท้องของคุณแม่มีขนาดใหญ่ขึ้น การลุกจากเตียงอาจทำให้คุณแม่ปวดหลัง คุณแม่ไม่ควรเกร็งหน้าท้องขณะลุก แต่ควรนอนตะแคงและใช้มือยันตัวขึ้นจากที่นอน ช่วงนี้คุณแม่อาจเริ่มเป็นตะคริว และเริ่มสัมผัสได้ว่าลูกกำลังดิ้น

เดือนที่ 6 คุณแม่อาจหายใจลำบากเพราะท้องกดทับปอดเวลานอน คุณแม่จึงไม่ควรนอนหงาย แต่ควรนอนตะแคง โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ในระยะนี้คือ โรคครรภ์เป็นพิษ

เดือนที่ 7 อาการปัสสาวะบ่อยกลับมาอีกครั้ง เพราะมดลูกขยายกดทับกระเพาะปัสสาวะ หน้าอกขยายจนต้องเปลี่ยนเสื้อชั้นในล็อตใหม่

เดือนที่ 8 เอ็นและข้อต่อต่างๆ ของคุณแม่ยืดตัวเพื่อเตรียมให้อุ้งเชิงกรานขยาย คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บข้อมือและข้อต่อต่างๆ ระยะนี้ท้องของคุณแม่มีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเวลานอนตะแคงควรใช้ผ้าห่มรองท้องเพื่อไม่ให้ปวดหลัง

เดือนที่ 9 อาการท้องผูกอาจกลับมาอีกเพราะทารกเริ่มกลับหัวและไปกดลำไส้ตรงพอดี คุณแม่จะสังเกตเห็นได้ว่ายอดท้อง (ส่วนที่สูงที่สุดของท้อง) อยู่ต่ำลง นั่นเพราะน้องลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอดนั่นเอง

การตั้งครรภ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก่อความไม่สบายตัวให้กับคุณแม่เอามากๆ ทว่าความลำบากแค่นี้แลกกับการได้ลูกน้อยมาเชยชมหนึ่งคน สำหรับคุณแม่แล้วมันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มเสียอีก จริงไหม