4 ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับคุณแม่ ตั้งครรภ์

หน้าแรก/การตั้งครรภ์/4 ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับคุณแม่ ตั้งครรภ์
4 ความเชื่อโบราณเกี่ยวกับคุณแม่ ตั้งครรภ์

คุณแม่ ตั้งครรภ์ อาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า เชื่อโบราณแล้วบานบุรี เชื่อที่ไรวอดวายทุกที แต่ไม่ใช่ทุกความเชื่อจะบานบุรี โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับคุณแม่ตั้งครรภ์ ต้องยอมรับว่าบางความเชื่อก็มีข้อสนับสนุนทางวิทยาศาสตร์ แต่บางข้อก็ยังไม่มี และนี่คือ 4 ความเชื่อที่ว่านี้

1.ห้ามนอนหงาย

โบราณว่าไว้ห้ามคนท้องนอนหงาย เพราะถ้าลูกดิ้นแรงๆ แล้วจะทำให้ท้องแตก ในทางวิทยาศาสตร์การที่คุณแม่ตั้งครรภ์นอนหงาย จะทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนวิงเวียน หน้ามืด ตาลายได้ ที่สำคัญน้ำหนักของลูกจะกดทับทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ท่านอนที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ เมื่อครรภ์ใหญ่ขึ้น คือนอนตะแคงแล้วใช้ผ้าห่มรองใต้ท้อง หากไม่ใช้ผ้าห่มรองคุณแม่อาจปวดหลังได้

2.ห้ามซ่อมบ้าน

ความเชื่อไทยโบราณว่ากันว่าหากซ่อมบ้านแล้วจะทำให้ลูกเกิดมาพิการ เมื่อสืบค้นไปแล้วพบว่าความเชื่อนี้ปรากฏในหลักฮวงจุ้ยของจีน นอกจากนี้ยังปรากฏในศาสตร์จัดสถานที่ของอินเดียโบราณที่เรียกกันว่า ‘วาซตุ’ ศาสตร์นี้เชื่อกันว่าในสถานที่ทุกๆ แห่งมีปราณกระแสไหลเวียนอยู่ การซ่อมบ้านเป็นการปรับปราณกระแส จึงอาจส่งผลกระทบต่อทารกที่กำลังสร้างร่างกายในท้องของแม่ได้ สำหรับในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีอะไรเป็นเครื่องยืนยันในเรื่องนี้ แต่การซ่อมบ้านทำให้เกิดฝุ่นซึ่งอาจเป็นอันตรายเมื่อคุณแม่สูดดม และการวางข้าวของผิดที่อาจทำให้สะดุดได้

3.ทำอย่างนี้แล้วจะคลอดง่าย

ในบางความเชื่อ บอกว่าเวลาที่แม่อาบน้ำ ขณะที่น้ำไหลผ่านตัวเองจากบนลงล่าง ให้เอามือลูบท้องแล้วพูดว่า “ให้ลูกตกรกตาม” จะทำให้คลอดง่าย แต่ในบางความเชื่อบอกว่าให้ยายเป็นคนทำ โดยเช้ามาก็ให้ยายลูบท้องแม่และพูดว่า “ให้ลูกตกรกตาม” ความเชื่อนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ แต่อาจจะมีส่วนช่วยในเรื่องของความอบอุ่นและกำลังใจนั่นเอง

4.กายบริหารโบราณที่คนท้องควรทำ

ตำรานวดจากกำแพงวัดโพธิ์ ระบุถึงท่ากายบริหารสำหรับคุณแม่ที่ตั้งท้อง 8 เดือนขึ้นไป โดยให้คุณแม่นอนหงายแยกขา งอเข่าให้เท้าทั้งสองข้างประกบกัน แล้วให้หมอนวด (อาจเป็นคุณพ่อหรือใครก็ได้) ถีบขาด้านใน ถัดจากขาหนีบออกมาประมาณ 1 ฝ่ามือ จะทำให้อุ้งเชิงกรานขยายและคลอดง่าย ในทางวิทยาศาสตร์พบว่าผู้หญิงท้องแก่ เส้นเอ็นต่างๆ จะยืดตัวทำให้ข้อต่อเปิดกว้างได้ง่าย ท่านวดจากกำแพงวัดโพธิ์จึงมีความเป็นไปได้ในทางวิทยาศาสตร์ค่อนข้างสูง

นอกจากข้อ 1 ความเชื่อโบราณอีก 3 ข้อเป็นสิ่งที่ยังไม่มีงานวิจัยในทางวิทยาศาสตร์รอบรับ เป็นเพียงภูมิปัญญาชาวบ้านวิถีไทย ที่บรรพบุรุษปฏิบัติตามกันมาเท่านั้น ดังนั้นคุณแม่ควรจะเชื่อหูไว้หูนะ