หลากอารมณ์ ทารกแรกคลอด ที่คุณแม่ควรรู้

หน้าแรก/วิธีเลี้ยงลูก/หลากอารมณ์ ทารกแรกคลอด ที่คุณแม่ควรรู้
หลากอารมณ์ ทารกแรกคลอด ที่คุณแม่ควรรู้

เพราะทารกแรกเกิดยังสื่อสารบอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ การร้องของเขาจึงบอกอะไรได้หลายๆ อย่าง เช่น หิว ง่วง ไม่สบายตัว ผ้าอ้อมเปียก หรือกำลังบอกคุณแม่ว่า หนูอึอึ๊ออกมาแล้วนะ การดูแลทารกแรกคลอดจึงอาจจะดูยุ่งยาก เพราะคุณแม่และหนูน้อยยังไม่รู้ใจกัน แต่หากคุณแม่หมั่นสังเกต ไม่นานจะรู้ได้ทันทีเลยว่าเจ้าตัวเล็กกำลังจะบอกอะไร

การที่คุณพ่อคุณแม่ตอบสนองความต้องการของเขาได้ถูก จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และสายใยความรัก มีการวิจัยพบว่าเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ตอบรับสัญญาณที่เขาพยายามสื่ออยู่เสมอ จะเติบโตขึ้นเป็นคนมีเหตุมีผล รู้จักแสดงความต้องการของเขาให้ผู้อื่นรับรู้อย่างเหมาะสม รวมถึงเข้าใจและรู้ถึงความต้องการของผู้อื่นได้ดี ดังนั้น มาทำความเข้าใจทารกกันเถอะค่ะ

หนูหิวแล้วล่ะ

คุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่รู้ใจเจ้าตัวเล็กมักคิดว่า การที่ลูกร้องเป็นเพราะเขาหิว ซึ่งเป็นเรื่องจริงสำหรับทารกสัปดาห์แรกๆ เท่านั้น เนื่องจากในช่วงแรกเกิดนี้ ทารกมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมาก เขาจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารมากเป็นพิเศษ คุณแม่ของหนูน้อยวัยแรกเกิดจึงสามารถให้นมเขาได้บ่อยๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าลูกจะอิ่มเกินไป เนื่องจากช่วงนี้น้ำนมคุณแม่ยังมีไม่มาก ลูกจึงอาจหิวบ่อย

ต้องการความช่วยเหลือ

ต่อมาเขาจะเรียนรู้ว่า เมื่อเขาต้องการความช่วยเหลือ การส่งเสียงร้องไห้จะทำให้มีคนมาช่วยให้เขาสบายตัวขึ้นได้ เขาจึงใช้การร้อง เป็นเครื่องมือสื่อสารกับคนรอบข้าง ดังนั้น คุณแม่จึงควรแยกแยะให้ออกว่า ลูกร้องเพราะอะไร ก่อนที่จะให้ลูกกินนม ควรสำรวจก่อนว่า มีสาเหตุอะไรที่ทำให้ลูกร้อง เช่น ถูกมดกัด ร้องเพราะตกใจ หรือผ้าอ้อมเปรอะเปื้อน ถ้าเป็นกรณีนี้เมื่อคุณแม่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขาก็จะหยุดร้อง

มาเล่นกันเถอะ

หากสำรวจดูแล้ว ไม่น่าจะมีเหตุอันใดที่จะทำให้ลูกร้องได้ แต่เขากลับร้องไม่หยุด นั่นแสดงว่าเขากำลังเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างอยู่ ถ้าลูกร้องแบบนี้ละก็ ลองใช้การสัมผัสเบาๆ ลูบเนื้อลูบตัว ชวนลูกคุย เล่นกับเขา อุ้มเขาเดินเล่นก็จะทำให้เจ้าตัวเล็กอารมณ์ดีขึ้นได้ แต่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องอุ้มลูกทุกครั้งที่เขาร้องนะคะ เพราะหากพอเขาร้องปุ๊บคุณแม่อุ้มปั๊บ เขาก็จะร้องจนวางลงไม่ได้แบบที่เรียกว่าติดมือนั่นล่ะค่ะ

หลับสนิทหรือยังนะ

บางครั้งเวลาลูกหลับเขาอาจทำท่าขยับปากคล้ายจะขอนม ขมวดคิ้ว ทำหน้าย่น หรือยิ้ม อาการเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกว่าเขาหิวหรือกำลังฝัน แต่เป็นพัฒนาการของกล้ามเนื้อใบหน้า หากลูกมีท่าทีว่าจะตื่นหลังจากนอนได้ไม่นาน ควรกล่อมให้เขาหลับต่อด้วยการใช้มือลูบไล้หน้าอกหรือตบก้นเขาเบาๆ ลูกจะเคลิ้มหลับต่อไปได้เอง ถ้าอยากรู้ว่าลูกหลับสนิทจริงๆ หรือยัง ให้สังเกตว่าตอนเริ่มหลับเขาจะกำมือ พอหลับไปสักพักจะคลายออก ถ้าคุณแม่วางนิ้วลงในอุ้งมือแล้วเขากำมือตอบแสดงว่ายังหลับไม่สนิท เพราะถ้าหลับสนิทเขาจะไม่กำมือคุณแล้ว

สื่อสารผ่านรอยยิ้ม

เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 4 ลูกจะรู้ว่า รอยยิ้มของเขาจะทำให้ใครต่อใครส่งยิ้มกลับ เขาจึงส่งยิ้มให้แทบทุกคนที่ได้พบ แม้แต่คนแปลกหน้า แต่รอยยิ้มนั้นจะไม่กว้างเท่าที่เขายิ้มให้คุณพ่อคุณแม่ เวลาอุ้มเด็กให้นั่งตักก็เช่นกัน ถ้าคุณพ่อคุณแม่หรือคนใกล้ชิดเป็นคนอุ้ม เขาจะพยายามหันหน้าเข้าหา ต่างจากเวลาเขาอยู่บนตักคนไม่คุ้นเคย เขาจะขืนตัวหันหน้าออกไปด้านนอก ต่อมาเขาจะรู้ว่าหากต้องการสิ่งใดต้องใช้ท่าทางและน้ำเสียงสื่อให้คุณแม่รับรู้ เช่น จ้องมองของที่อยากได้ แล้วส่งเสียงอืออา หรือกางแขนออกเพื่อขอให้แม่อุ้ม ถ้าคุณแม่ตอบสนองสิ่งที่เขาพยายามสื่อได้ถูกเขาก็จะพอใจยิ้มกว้างเชียวล่ะค่ะ

ผู้เขียน : ชนาวรรณ์
นักเขียนนิทาน เรื่องสั้น บทความสุขภาพ-พัฒนาการเด็ก คอลัมนิสต์นิตยสาร M&C แม่และเด็ก
ภาพประกอบ : ด.ช.พิสิษฐ์ (พาสต้า)-ด.ญ.วรวลัญช์ (เพนนี่) เมธีวีรวงศ์